วันนี้ (18 เม.ย.68) พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสรุปยอดคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติในช่วง “7 วันควบคุมเข้มข้นสงกรานต์ 2568” (17 เม.ย.68)มีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,177 คดี แบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 1,095 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 12 ราย ขับรถประมาท 3 คดี และคดีขับเสพ 79 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 3 ราย

ยอดสะสม 7 วัน ระหว่างวันที่ 11–17 เม.ย.68 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,405 คดี ลดลงจากปี 2567 (7,388 คดี) คิดเป็น 12.63% แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 6,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.27 ขับรถประมาท 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ขับซิ่ง 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 และขับเสพ 297 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.64

ส่วนจังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 406 คดี สมุทรปราการ จำนวน 351 คดี และเชียงใหม่ จำนวน 302 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 7,131 คดี กับ ปี พ.ศ. 2568 จำนวน 6,100 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 1,031 คดี คิดเป็นร้อยละ 14.46
ในส่วนของการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM ตามคำสั่งศาล ในวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้นมีจำนวน 15 ราย ทำให้ยอดสะสม 7 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 52 ราย ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ซึ่งจังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ฐานเมาแล้วขับทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับมาตรการทางกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข กรมคุมประพฤติจะรายงานกลับไปยังศาล เพื่อนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษมาบังคับใช้