กรณีการแก้หนี้ให้ประชาชน หลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผุดไอเดียบนเวทีในจังหวัดพิษณุโลก เกี่ยวกับการซื้อหนี้ประชาชนจากธนาคารล้างเครดิตบูโร ซึ่งล่าสุดวันนี้ (19 มี.ค.68) พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก หลังนาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ออกมาให้ความเห็นถึงกรณีดังกล่าว เผย "แนวคิดที่เป็นไปได้ 'ซื้อหนี้ประชาชน' Good Bank - Bad Bank ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน" โดยระบุข้อความว่า
ยกแนวคิด Good Bank - Bad Bank ดึงเอกชนร่วม 'ซื้อหนี้ประชาชน' หารือ สมาคมธนาคารไทย
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงแนวคิดของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ดึงเอกชนเข้ามาร่วมซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคารเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า โดยหลักการแก้ปัญหาหนี้นั้น หากเป็นหนี้ที่พอจะแก้ไขได้ก็จะมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถอยู่รอดได้
แต่หากดำเนินการแล้วบางคนปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้ เงื่อนไขมีมาก หรือทำแล้วไม่คุ้มค่า เนื่องจากเป็นหนี้อยู่กับหลายธนาคาร ขณะที่ธนาคารเองก็ต้องปล่อยสินเชื่อใหม่ไปเรื่อย ๆ จึงมีอีกวิธีในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางคล้ายกับปี 2540 ที่ต้องแยกบัญชี Good bank - Bad bank คล้ายกับธุรกิจบริหารหนี้ (AMC) แต่ครั้งนี้คงต้องทำร่วมกับธนาคาร ในฐานะที่เป็นเจ้าของหนี้ และอาจมีเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมบริหาร รวมถึงภาครัฐด้วยว่าจะสามารถเข้าไปช่วยอย่างไร
"ครั้งนี้เป็นวิธีคิด เอามาดูเลย แยกออกมาเลย ต้องใช้เวลาเคลียร์กันนาน แต่ก็เคลียร์อยู่นอกธนาคารแล้ว เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง ก็ดูอยู่ จริงๆ ผมคิดไว้หมดแล้วว่ามีกี่วิธี จะเริ่มอันไหนก่อน หน้า-หลัง"
พิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนหนี้ที่แยกออกมาเพื่อให้เข้าไปซื้อจากธนาคารจะเป็นหนี้ประเภทไหน หนี้บ้าน หนี้รถ หรือ หนี้ส่วนบุคคลนั้น ขอดูรายละเอียดก่อน รวมทั้งต้องฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ซึ่งวันนี้จะไปพบกับสมาคมธนาคารไทยจะได้มีการหารือกันในเรื่องนี้
ส่วนแนวคิดของอดีตนายกฯ ที่ระบุว่าการซื้อหนี้ประชาชนจากระบบธนาคารจะไม่ต้องใช้เงินงบประมาณจากรัฐเลยนั้น พิชัย กล่าวว่า แล้วแต่เงื่อนไข ซึ่งอาจเป็นทั้งเป็นไปได้ และ เป็นไปไม่ได้
อ่านข่าว : นายกฯ ไม่ขวางไอเดียซื้อหนี้ประชาชน
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย กล่าวบนเวทีปราศรัยที่จังหวัดพิษณุโลก โดยหนึ่งในเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนให้ความสนใจคือ การซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคาร โดยอดีตนายกฯระบุว่า จะประกาศนโยบายเศรษฐกิจอันใหม่ ซึ่งคิดกันกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า
"คิดดังๆ กับนายกรัฐมนตรี รัฐบาลจะซื้อหนี้ทั้งหมด เอาหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคาร แล้วให้ประชาชนค่อยๆ ผ่อนหนี้ โดยอาจไม่ต้องชำระเต็มจำนวน เราเริ่มต้นใหม่ ยกหนี้จากเครดิตบูโรให้หมด ให้เป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่อง แล้วทำมาหากินใหม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินรัฐสักบาท เพราะผมสามารถให้เอกชนลงทุน วันนี้รัฐเป็นหนี้เยอะ เราเข้ามาหนี้ก็บานตะไท จะขยับอะไรทีก็เป็นหนี้ทั้งหมด ฉะนั้นเราต้องสร้างหนี้ให้น้อยที่สุด สร้างโอกาสให้คนไทยมากที่สุด พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ต้องทำ”
อดีตนายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้โอกาสของคนไทยลดลงไปเยอะ ธนาคารพาณิชย์ขี้เกียจแต่กำไรดี เพราะมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพี่เลี้ยง เมื่อเงินเหลือก็ดูดออก ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ต้องขวนขวายปล่อยกู้เอสเอ็มอี และ รายย่อย กลายเป็นว่าสินเชื่อรถและสินเชื่อบ้านก็ไม่ปล่อย แล้วเศรษฐกิจจะอยู่อย่างไร
“วันนี้รัฐบาลต้องหาทางเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ว่าไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล แต่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ จำเป็นต้องปลดภาระให้ประชาชนทำมาหากินได้ต่อไป ให้ประชาชนมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะโอกาสมาแล้วก็ไป จะคว้าก็คว้าไม่ได้ เพราะหนี้เต็มหลัง เราต้องเอาหนี้ปล่อยวางไว้ แล้วขึ้นรถไฟโอกาสให้ได้” ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ระบุ
ช่วงหนึ่ง ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อธิบายถึงแนวคิดการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตั้งแต่แรกเริ่มว่า ตอนนั้นที่พูดกันว่าจะไม่กู้เพราะเราไปเข้าใจว่าไม่มีใครเข้ามายุ่งกับการบริหาร เราก็จะออกเหรียญและให้ประชาชนใช้พร้อมกันทีเดียว แล้วเหรียญก็จะวนในระบบ แล้วรัฐบาลค่อยๆตั้งงบประมาณชดเชย และขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็จะดีเก็บ Vat (ภาษี) ก็ได้มันก็จะใช้หนี้ตัวมันเอง แต่ปรากฏว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) มาถึงเป่านกหวีดบอกไม่ได้ต้องมีเงิน ต้องตั้งงบประมาณ ผลสุดท้ายคือผิดแผน แต่เราก็พยายามปรับปรุงแก้ไขจนทำได้
"ต่อไปเทคโนโลยีดิจิทัลวอลเล็ตพี่น้องจะจำเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค จะเป็นกระเป๋าตังค์ของท่าน ท่านจะถูกเติมเงินในกระเป๋านี้โดยวิธีการต่างๆเพราะฉะนั้นกระเป๋าดิจิทัลนี้จะเป็นอะไรที่อยู่กับท่านตลอดชีวิต" อดีตนายกฯ กล่าว
ซื้อหนี้ประชาชน เป็นหนี้อยู่ ยังต้องจ่ายต่อไหม ?
อย่างไรก็ตาม บนโลกออนไลน์มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้ถึง 2 มุม ทั้งขานรับ และ คัดค้าน รวมถึงคำถามที่หลายคนสงสัย "ซื้อหนี้ประชาชน" คือการล้างหนี้ให้หรือไม่ หากคนเป็นหนี้อยู่ ยังต้องชดใช้หนี้ต่อไปหรือไม่
ทางด้าน อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ชี้ชัด การซื้อหนี้ไม่ใช่ปลดหนี้ คนที่เป็นหนี้อยู่ยังต้องจ่ายเช่นเดิม โดยระบุข้อความว่า
"หลายคอมเมนต์เหมือนจะเข้าใจผิดนะครับ "ซื้อหนี้" ในที่นี้ไม่ใช่การ "ปลดหนี้" นะครับ ยังเป็นหนี้อยู่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเจ้าหนี้ ที่น่าจะใจดีขึ้น เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยให้ คำถามใหญ่คือ จะทำได้โดยไม่ใช้งบประมาณเลย จริงหรือ?"
ขณะทางฝั่งที่คัดค้าน ก็มีเสียงท้วงติง ตกลงใครจะรับภาระหนี้ หนึ่งในนี้ คือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า แนวคิดนี้ ยังไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน จึงอยากเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ไม่ใช่ใช้เป็นเพียงวาทกรรมหาเสียง
และยังมีอีกหลากความเห็น ซึ่ง นักวิชาการอาวุโส TDRI มองเรื่องนี้เกิดยากถ้าไม่ใช้เงินรัฐ พร้อมห่วงวิธีนี้จะทำประชาชนเคยชิน เป็นหนี้แล้วไม่ต้องจ่ายด้วย