กรมควบคุมโรค รอผลตรวจรอบ 2 เด็ก 3 ขวบเสียชีวิตที่ชุมพร หลังผลครั้งแรกไม่พบเชื้อ

View icon 203
วันที่ 13 ม.ค. 2568
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ลุ้นผลตรวจรอบ 2 เด็ก 3 ขวบเสียชีวิต หลังสงสัยติดเชื้อ “เอนเทอโรไวรัส” ขณะที่ผลครั้งแรกไม่พบเชื้อใดๆ ด้าน กรมควบคุมโรค แนะวิธีการป้องกันโรค

วันนี้ (13 ม.ค.68) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีเด็กอายุ 3 ขวบเสียชีวิต โดยสงสัยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสว่า กรมควบคุมโรคมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 เนื่องจากผลการตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อใด ๆ ทั้งนี้ โรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเชื้อนี้มีหลายชนิดและสามารถก่อโรคได้หลายระบบของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบผิวหนัง ระบบประสาท โรคที่เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มนี้ที่ได้ยินกันบ่อย เช่น โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease - HFMD) โรคโปลิโอ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Viral Meningitis) ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแล้วนำมือมาสัมผัส เยื่อบุปาก จมูก ตา หรือการไอ จาม รดกัน

เชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิดที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปากที่พบบ่อย คือ Coxsackievirus A16 และ Enterovirus 71 (EV71) โดยพบว่าเชื้อ Coxasackievirus A16 มักทำให้มีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ มีแผลในปาก มีผื่นที่มือและเท้า ส่วนการติดเชื้อ Enterovirus 71 ในประเทศไทยพบได้น้อย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้  โรคกลุ่มนี้มักพบการระบาดช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ มักระบาดในที่แออัด หรือมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก รวมทั้งสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก กองระบาดวิทยา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557 – 2566 ยกเว้นปี พ.ศ. 2563 – 2564 ช่วงมีการระบาดของโควิด 19) มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนปี พ.ศ. 2567 มีผู้ป่วยสะสม 92,536 ราย อัตราป่วย 142.56 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี สูงสุดในช่วงเดือนก.ค. – ก.ย. กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 1 – 4 ปี อัตราส่วน 2,514.48 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ต่ำกว่า 1 ปี (1,435.07) และ 5 – 9 ปี (635.42) ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง 224.04 ต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือ (139.22) ภาคใต้ (90.33) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (83.95) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ชลบุรี 401.36 ต่อประชากรแสนคน ภูเก็ต (294.11) และจันทบุรี (287.67)            

ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อเอนเทอไวรัสร่วมกับมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ พบผู้ป่วย 55 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ข้อมูลจากการเฝ้าระวังเหตุการณ์ มักพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ติดเชื้อคือ การไม่แยกเด็กเมื่อพบเด็กป่วย การใช้ภาชนะหรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เป็นต้น จากการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคทางห้องปฏิบัติการ โดยกองระบาดวิทยา ร่วมกับ ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลเครือข่ายฯ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 - 31 ธ.ค.67 มีตัวอย่างส่งตรวจสะสม 3,530 ตัวอย่าง ให้ผลบวกต่อสารพันธุกรรมในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส  1,638 ตัวอย่าง ร้อยละ 46.40 จำแนกตามสายพันธุ์เอนเทอโรไวรัสสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Coxsackievirus A (พบสูงสุดคือ A16, A6 และ A10) ร้อยละ 71.41 รองลงมาคือ Enterovirus 71 ร้อยละ 19.83 และ Rhinovirus ร้อยละ 4.01 

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมถึงการวินิจฉัยโรคว่า ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติ และการตรวจร่างกาย ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนอาจมีความจำเป็นต้องส่งตรวจหาเชื้อเพื่อการวินิจฉัยแบบเฉพาะเจาะจง โรคกลุ่มนี้สามารถป้องกันโรคได้ด้วยมาตรการรักษาความสะอาด การปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี การล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในสถานที่แออัด หากพบเด็กมีอาการกินอาหารไม่ได้ ซึม ชัก หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที และเด็กที่ป่วยควรหยุดเรียน 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะพ้นระยะของการแพร่เชื้อตามคำแนะนำของแพทย์ ปัจจุบันมีวัคซีนทางเลือกที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71 Vaccine) เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถป้องกันเชื้อชนิดอื่นได้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง