เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช. สอบนายกฯ แจ้งเงินให้กู้ยืมของคู่สมรส เป็นไปตาม ม.114 หรือไม่
แชร์
เรืองไกร ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี กรณีแจ้งบัญชีรายการเงินให้กู้ยืมของคู่สมรส เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 หรือไม่
วันนี้ (13 ม.ค. 68) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เว็บไซต์ ป.ป.ช. เปิดเผยนั้น พบว่า มีหลายหลายการที่ควรตรวจสอบ ซึ่งในวันนี้เป็นการขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเงินให้กู้ยืมของคู่สมรสที่ให้บริษัท วินน์ แคปปิตอล จำกัด กู้ยืมจำนวน 8 รายการ (ลำดับที่ 2 – 9) โดยเกิดขึ้นระหว่างปี 2564 – 2565 รวมเป็นเงิน 12,770,000 บาท และมีการแจ้งรายได้ดอกเบี้ย 383,100 บาท ถูกต้องสัมพันธ์กันกับข้อมูลของบริษัท วินน์ แคปปิตอล จำกัด หรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ข้อ 1. กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แจ้ง ป.ป.ช. ว่า คู่สมรส ชื่อ นายปิฎก สุขสวัสดิ์ อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการลงทุนและการเงิน บริษัท เรนด์ดีเวล ลอปเมท์ จำกัด
ข้อ 2. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แจ้ง ป.ป.ช. ว่า คู่สมรส มีรายได้หลายรายการ รายการหนึ่งคือดอกเบี้ยจำนวน 383,100 บาท
ข้อ 3. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งบัญชีรายการเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท วินน์ แคปปิตอล จำกัด ของคู่สมรสจำนวน 8 รายการ (ลำดับที่ 2 – 9) โดยเกิดขึ้นระหว่างปี 2564 – 2565 รวมเป็นเงิน 12,770,000 บาท
ข้อ 4. จากการขอคัดหนังสือรับรองบริษัท วินน์ แคปปิตอล จำกัด ณ วันที่ 6 มกราคม 2568 พบว่า กรรมการของบริษัทมี 5 คน คือ นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายฤภพ ชินวัตร ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช และ นายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์
ข้อ 5. จากการขอคัดสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ณ วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30/04/2567 พบว่า บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีผู้ถือหุ้นคนไทยรวม 14 คน คือ นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ถืออยู่ 7,000 หุ้น น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ถืออยู่ 7,000 หุ้น นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ถืออยู่ 7,000 หุ้น น.ส.สุทิษา ประทุมกุล ถืออยู่ 7,000 หุ้น นายพงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิสกุล ถืออยู่ 7,000 หุ้น นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ถืออยู่ 7,000 หุ้น นายวิม รุ่งวัฒนจินดา ถืออยู่ 7,000 หุ้น นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ นายต้น ณ ระนอง ถืออยู่ 7,000 หุ้น ถืออยู่ 7,000 หุ้น นายมิตติ ติยะไพรัช ถืออยู่ 7,000 หุ้น นายฤภพ ชินวัตร ถืออยู่ 7,000 หุ้น ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช ถืออยู่ 9,000 หุ้น นายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ ถืออยู่ 7,000 หุ้น และ น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร ถืออยู่ 7,000 หุ้น รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
ข้อ 6. จากหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ของบริษัทฯ ข้อ 9 เงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีเงินกู้ยืมจากกรรมการ จำนวน 12.77 ล้านบาท (2565: 12.77 ล้านบาท) คิดดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และมีกำหนดชำระคืนเมื่อมีการทวงถาม
ข้อ 7. งบกำไรขาดทุนสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ของบริษัทฯ ได้แสดงรายการค่าใช้จ่ายทางการเงินของปี 2566 เป็นเงิน 383,100 บาท และของปี 2565 เป็นเงิน 379,680.81 บาท
ข้อ 8. จากการที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แจ้ง ป.ป.ช. ว่า คู่สมรส มีรายได้อดอกเบี้ยจำนวน 383,100 บาท จึงสอดคล้องกับรายการดอกเบี้ยร้อยละ 3 ของยอดเงินกู้ 12,770,000 บาท แต่มีข้อสังเกตที่ต่างกันคือ นายปิฎก สุขสวัสดิ์ ไม่มีชื่อเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท วินน์ แคปปิตอล จำกัด แต่อย่างใด ทั้งที่หมายเหตุข้อ 9 ระบุว่ายอดเงินกู้ 12,770,000 บาทของบริษัทฯ เป็นเงินกู้ยืมจากกรรมการ
ข้อ 9. ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบรายการเงินให้กู้ยืมของคู่สมรส จำนวน 12,770,000 บาท ถูกต้องหรือไม่ คู่สมรสเป็นกรรมการบริษัท วินน์ แคปปิตอล จำกัด หรือไม่ มีการนำดอกเบี้ยไปเสียภาษีรวมกับรายได้อื่นครบถ้วน หรือไม่ บริษัทฯ ผู้จ่ายดอกเบี้ยมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ และดอกเบี้ยดังกล่าวต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่ การแจ้งรายการดังกล่าวถูกต้องครบถ้วน หรือไม่ ทั้งนี้ได้แนบสำเนาข่าวของสำนักข่าวอิศรามาประกอบด้วยแล้ว
นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า วันนี้จึงได้ยื่นหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ว่า การแจ้งบัญชีรายการเงินให้กู้ยืมของคู่สมรส เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 หรือไม่