เปิดเหตุผล กรุงเทพฯ ไต่ขึ้น 11 อันดับ ก้าวสู่เมืองที่น่าลงทุนอันดับที่ 34 ของโลก

View icon 100
วันที่ 12 ม.ค. 2568
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อันดับเมืองน่าลงทุนระดับโลกของกรุงเทพฯ ที่ขยับก้าวกระโดดถึง 11 อันดับจากปีก่อนหน้า สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ด้าน กทม. จะพยายามพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและทำเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

วันนี้ (12 ม.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าลงทุนระดับโลก อันดับที่ 34  จากการจัดอันดับของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก Kearney  ถือเป็นการขยับก้าวกระโดดถึง 11 อันดับ จากเดิมอยู่อันดับที่ 45 เป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในบรรดา 50 เมืองชั้นนำทั่วโลก

ทั้งนี้ โดยความก้าวหน้าด้านกิจกรรมทางธุรกิจของกรุงเทพฯ มีปัจจัยหลักมาจากตัวเลขการขนส่งทางทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ที่หลายเมืองเผชิญปัญหาการขนส่งทางทะเลที่หยุดชะงักและความท้าทายอื่นๆ ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของกรุงเทพฯ จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนความยืดหยุ่นในมิตินี้

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทบริการชั้นนำระดับโลกในกรุงเทพฯ ยังช่วยยกระดับอันดับด้านกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและน่าดึงดูด รวมถึงชื่อเสียงของ กรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นในฐานะศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและความน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เรียกได้ว่า รายงานการจัดอันดับนี้ ตอกย้ำความน่าดึงดูดของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับการให้บริการธุรกิจนอกประเทศ

สำหรับดัชนี GCI จะประเมินเมืองต่าง ๆ โดยใช้เกณฑ์ ประกอบด้วย 1. กิจกรรมทางธุรกิจ 2. ทุนมนุษย์ 3. การแลกเปลี่ยนข้อมูล 4. ประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และ 5. การมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยใช้ตัวชี้วัด 31 รายการ และในปี 2024 มีการนำเกณฑ์การวัดใหม่ ๆ มาใช้ เช่น ความพร้อมด้านดิจิทัลและการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ เป็นต้น

ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตัวชี้วัดใหม่ด้านความเร็วอินเทอร์เน็ตส่งผลดีต่อกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งเราได้รับการจัดอันดับที่ 8 ของโลกในหมวดหมู่นี้ ส่วนด้านประสบการณ์ทางวัฒนธรรม ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความหลากหลายของอาหาร และศิลปะการแสดงและทัศนศิลป์ ล้วนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกันครับ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ Kearney ระบุด้วยว่า เพื่อไต่อันดับให้สูงขึ้น กรุงเทพฯ จำเป็นต้องเร่งจัดการกับข้อท้าทายสำคัญสองประการ คือ 1. การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม และ 2. การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม