กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ผลทดสอบความไวของสายพันธุ์เชื้ออหิวาตกโรคต่อยาปฏิชีวนะ พบว่ายาที่แพทย์ใช้รักษายังใช้ได้ผลดี

View icon 61
วันที่ 6 ม.ค. 2568
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการตรวจอหิวาตกโรค พร้อมเผยผลทดสอบความไวของสายพันธุ์เชื้ออหิวาตกโรคต่อยาปฏิชีวนะ พบว่ายาที่แพทย์ใช้รักษายังใช้ได้ผลดี

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์อหิวาตกโรคในประเทศไทยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจพบเชื้อ Vibrio cholerae serogroup O1, serotype Ogawa ในผู้ป่วยที่เดินทางผ่านด่านพรมแดนแม่สอดเข้าสู่ประเทศไทย (imported cases) ในช่วงสิ้นปี 2567 ผลการทดสอบความไวต่อยา พบว่า เชื้อไวต่อยา Tetracycline (เตตราไซคลิน) ซึ่งยาในกลุ่มเตตราไซคลิน เช่น Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) เป็นยากลุ่มแรกที่แพทย์เลือกใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยอหิวาตกโรค และจากการทดสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่ายาดังกล่าวยังใช้ได้ผลดี นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้ดำเนินการทดสอบลำดับเบสเพื่อวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อ Vibrio cholerae ที่แยกได้จากผู้ป่วยเพื่อศึกษาเชิงระบาดวิทยาอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงการแพร่กระจายของเชื้อ สามารถระบุแหล่งที่มาของการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน รวมถึงช่วยในการระบุสายพันธุ์ที่อาจมีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์นี้

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยใช้เทคนิคมาตรฐาน รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ การเพาะแยกเชื้อและจำแนกชนิด การตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิค PCR  การทดสอบความไวต่อยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการให้ยารักษา และการตรวจวิเคราะห์จีโนมเชิงลึกเพื่อติดตามการกลายพันธุ์และวิเคราะห์เชิงระบาดวิทยา โดยดำเนินงานร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามสถานการณ์และรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับประชาชนขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อก่อโรคอหิวาตกโรค ตามหลักสุขอนามัย เช่น การล้างมือ การบริโภคอาหารปรุงสุกใหม่ และดื่มน้ำสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันพื้นฐานสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีปัญหาสุขภาพพื้นฐานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติ เช่น ท้องเสียรุนแรง อาเจียน และมีอาการขาดน้ำ