คอลัมน์หมายเลข 7 : ระบบประปา POG TANK อบต.แก จ.สุรินทร์ ไร้ประสิทธิภาพ

View icon 111
วันที่ 5 ม.ค. 2568
เจาะประเด็นข่าว 7HD
แชร์
เจาะประเด็นข่าว 7HD - ระบบประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นอีกหนึ่งโครงการที่คอลัมน์หมายเลข 7 เกาะติดมาต่อเนื่อง อย่างโครงการที่จังหวัดสุรินทร์ ถูก สตง. ตรวจสอบพบว่าไม่มีการใช้ประโยชน์ ติดตามใน คอลัมน์หมายเลข 7

ระบบประปาแบบป๊อกแทงก์ ตามบัญชีนวัตกรรม ของ อบต.แก อำเภอรัตนบุรี งบประมาณ 5,195,000 บาท รองรับได้ 121-300 ครัวเรือน

เป็น 1 ใน 12 โครงการ ของจังหวัดสุรินทร์ ที่ถูก สตง.ตรวจสอบพบว่า ไม่มีการใช้ประโยชน์และใช้ประโยชน์ไม่มีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่โครงการฯ แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2566 เนื่องจากน้ำมีสีขุ่นเหมือนตะกอนสนิม หลังจากเปิดใช้งานเพียง 1 สัปดาห์ ชาวบ้านเกิดผื่นคัน และระบบกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ สุดท้ายต้องหยุดใช้งาน

นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่คอลัมน์หมายเลข 7 ขยายผลสุ่มตรวจสอบ และพบปัญหาคล้ายกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่ลงพื้นที่ไปก่อนหน้านี้

เรื่องนี้ บริษัท วอเทอร์ ป๊อก จำกัด ผู้รับจ้าง ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับระบบ แต่ปัญหาเกิดจากน้ำบาดาลที่ใช้ผลิตประปา ทำปฏิกิริยากับสารเคมีที่ใช้ผลิต ซึ่งนายก อบต.แก ยอมรับว่าเกิดปัญหาจริง และปัจจุบันได้แก้ไขแล้ว

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมการตรวจสอบภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มองว่า ระบบประปาใช้งานไม่มีประสิทธิภาพ สะท้อนความล้มเหลวเชิงนโยบาย เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามมาตรฐาน ที่สำคัญชาวบ้านต้องแบกรับค่าน้ำ ค่าไฟ และท้องถิ่นต้องแบกรับค่าสารเคมี หากขาดการบริหารจัดการที่ดี

ระบบประปาแบบป๊อกแทงก์ เกิดขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านใช้น้ำสะอาด ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ ได้รับงบประมาณปี 2565-2566 รวม 102 ล้านบาท ก่อสร้าง 20 โครงการ ในพื้นที่ 7 แห่ง แต่เกินครึ่ง หรือ 12 โครงการ กลับพบปัญหา

นี่เป็นผลสะท้อนความไม่พร้อมของท้องถิ่น ในการบริหารจัดการโครงการฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ

สัปดาห์หน้า เรายังอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ พาไปตรวจสอบโครงการฯ เดียวกัน ในอีกพื้นที่หนึ่ง