บช.ก. ปัดเอี่ยวคอร์สอาสาตำรวจคนจีน

View icon 54
วันที่ 3 ม.ค. 2568
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ตามกันต่อ ประเด็นการอบรมอาสาตำรวจคนจีน ที่ต้องเสียเงินค่าอบรม 38,000 บาท ใช้เวลาเพียง 3 วัน จะได้บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ มีตราสัญลักษณ์ชัดเจน ร้อนจนหน่วยงานต่าง ๆ ต้องออกมาชี้แจง

สืบเนื่องจากประเด็นเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับการอบรมอาสาตำรวจคนจีน ที่มีค่าอบรมแรกเข้า 38,000 บาท โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2567 เมื่อผ่านการอบรมจะมีใบรับรอง ซึ่งมีอายุ 2 ปี พร้อมได้รับหมวก, เสื้อยืด, เสื้อกั๊กตำรวจ, และบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ตราสัญลักษณ์กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมชื่อ CIB ประกอบการอบรมด้วย

ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มีคำชี้แจงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอบรมดังกล่าว และทางผู้จัดการอบรมมิได้ขอใช้ "ตราสัญลักษณ์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง"

ขณะที่รายการถกไม่เถียง เมื่อวานนี้ มีการเชิญ รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล หรือ อาจารย์โต้ง นักอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต และ พันตำรวจเอก วิรุฒน์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มาร่วมวิเคราะห์

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่การโฟนอินในรายการ มีการยืนยันข้อเท็จจริงจากปากของคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายคน อย่าง ทนายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสยาม บอกว่า จริง ๆ หลักสูตรเรื่องการอบรมให้ความรู้ทางกฎหมาย มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ด้าน ผศ.เวทิศ ทองจันทร์ รองผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยว่า เอกสารที่มีตราสัญลักษณ์มหาวิยาลัย ไม่ใช่เอกสารของมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเลขรับหนังสือ หากเป็นการออกเอกสารของมหาวิทยาลัย ต้องเป็นการออกผ่านสำนักอธิการบดี จึงเป็นไปได้ว่า อาจเป็นการดำเนินการส่วนตัว

อีกคน คือ นายหลี่ชาง ผู้ประสานงานนักศึกษาจีน ซึ่งเป็นผู้จัดการอบรม โฟนอินว่า มีการอบรมโครงการการนี้จริง วัตถุประสงค์ของการอบรม เพื่อให้นักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนได้รู้กฎหมายไทย โดยมีการใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยสยามในการอบรมเพียงครึ่งวัน จากนั้นก็ไปใช้สถานที่ด้านนอกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ยืนยันว่าไม่มีการเรียกเก็บเงินแต่อย่างใด หมวก เสื้อกั๊ก ไม่ใช่ของที่ทางมหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ และนอกจากรุ่นที่ 1 แล้ว ยังไม่มีการเตรียมจัดรุ่น 2

ด้าน นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ทนายแจม สส.พรรคประชาชน ซึ่งเป็นคนโพสต์แฉเรื่องนี้ ได้โพสต์ข้อความจับพิรุธว่า เมื่อตำรวจและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ ตอนนี้จึงมีประเด็นสำคัญอยู่ 4 ประเด็น คือ

1. เงิน 38,000 บาท ใครจ่ายบ้าง และจ่ายให้ใคร? ตำรวจจะตรวจสอบเส้นเงินหรือไม่?

2. หนังสือที่อ้างว่าออกมาจากมหาวิทยาลัยสยาม ใครเป็นคนออกกันแน่?

3. การแอบอ้างทั้ง CIB และ DSI ตำรวจด้วยกันไม่มีการตรวจสอบก่อนเลยหรือ แล้วหลังจากนี้ทางตำรวจจะดำเนินการอย่างไร

4. ผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 30 คน เป็นนักศึกษาทั้งหมดหรือไม่ หรือเป็นนักศึกษาแค่บางส่วน แล้วมีบุคคลภายนอกมาร่วมด้วยหรือไม่

ขณะที่ พลตำรวจโท สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สั่งการให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 รายงานผลตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในวันนี้ พร้อมยืนยันว่า โครงการอบรมอาสาแจ้งข่าวอธิการของมหาวิทยาลัยสยาม มีจริง หากพบว่าตำรวจทั้ง 2 นาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้จัดโครงการ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นวิทยากร หรือมีการเรียกรับผลประโยชน์ จะดำเนินการทางอาญาหรือทางวินัย

เบื้องต้น ทางกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้เชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยสยาม เข้าพบ เพื่อสอบถามรายละเอียดของโครงการว่า ประเด็นการเรียกเก็บเงิน 38,000 บาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และจะขอรายชื่อผู้ที่เข้ารับอบรมทั้งหมดมาสอบ

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก บิ๊กเกรียน อ้างข้อมูลว่า นอกจากหลักสูตรอบรมอาสาสมัครตำรวจคนจีนแล้ว ยังมีประเด็นคนจีนลามไปยังหน่วยงานอื่น ๆ เช่น "คนจีน" ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ของ สภ.นาจอมเทียน จังหวัดชลบุรี

และยังมีประเด็น "ผู้พันติ๊ก" ได้จัดให้คนจีนเข้าร่วมอบรมกับสมาคมแห่งหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2562 โดยอ้างว่า เป็นการอบรม เพื่อเป็นกำลังสำรองรักษาดินแดนไทย พร้อมแนบภาพถ่ายงานพิธีประดับเครื่องหมายเลื่อนชั้นตำแหน่ง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สโมสรแห่งหนึ่ง ย่านถนนวิภาวดีรังสิต

ทั้งนี้ ในประเด็นกำลังสำรองรักษาดินแดนไทย แหล่งข่าวจากกองทัพบกให้ข้อมูลว่า สมาคมกำลังสำรองรักษาดินแดนได้จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้เป็นสมาคมขึ้นตรงหน่วยงานราชการทหาร เป็นเพียงกลุ่มคนที่ร่วมกันจดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคม แต่มีชื่อพ้องหน่วยงานสังกัดหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนกองทัพบก

อีกทั้งสมาคมดังกล่าว มีชุดการแต่งกายคล้ายชุดผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหาร ที่ทางกองบัญชาการรักษาดินแดนได้ฝึกอบรมให้กับครู อาจารย์ และผู้บริหารสถาบันการศึกษา เมื่อเห็นการแต่งกาย ประชาชนที่ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าเป็นหน่วยงานทหารได้

ส่วนประเด็นมีชาวจีนเป็นที่ปรึกษา กต.ตร. ของ สภ.นาจอมเทียน พันตำรวจเอก วัฒนชัย แสงฤทธิ์ ผกก.สภ.นาจอมเทียน ชี้แจงว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาเป็นอำนาจของหัวหน้าสถานีตำรวจ โดยไม่ได้แต่งตั้งเฉพาะชาวจีน แต่มีชาวรัสเซียและชาวอินเดีย ช่วยราชการ ด้านการประสานงาน และเป็นล่ามให้นักท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย ไม่มีอำนาจในด้านอื่น ๆ ยิ่งพื้นที่ สภ.นาจอมเทียน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก การมีล่ามจิตอาสาช่วยงานเป็นสิ่งจำเป็น และการแต่งตั้งที่ปรึกษาต่างชาติ เป็นแนวทางที่ใช้กันอยู่แล้ว ซึ่งกรณีแต่งตั้งชาวจีนครั้งนี้ เป็นการแต่งตั้งแทนที่ปรึกษาคนเดิมที่ลาออก โดยผู้ที่ลาออกได้แนะนำบุคคลดังกล่าวเข้ามา