จับพิรุธโครงการอบรมอาสาตำรวจ

View icon 72
วันที่ 3 ม.ค. 2568
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ตำรวจเชิญนักศึกษาและอาจารย์ ที่น่าจะมีส่วนรู้เห็นกับการฝึกอบรมโครงการตำรวจอาสา ไปให้ข้อมูลแล้ว ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 3 เตรียมพิจารณาตำรวจทั้ง 2 นาย ถ้าเกี่ยวข้อง มีส่วนได้รับผลประโยชน์จากการเก็บเงินด้วย ก็จะถูกเอาผิดทั้งอาญาและวินัย

ตอนนี้ผู้สื่อข่าวหลายสำนัก ไปรอกันที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 หลังจากทราบข่าวว่า ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้เชิญนักศึกษาและอาจารย์ ที่เกี่ยวข้องกับการโครงการฝึกอบรมตำรวจอาสา ที่กำลังเป็นกระแสดรามา เรื่องที่จะมีการออกบัตรประจำตัว มีเสื้อกั๊ก มีใบประกาศณียบัตรให้ และก็มีคนจีนรีวิวว่า ถ้าสนใจจ่ายเงินแค่ 38,000 บาท ก็สามารถเข้ามาอบรมแบบนี้ได้เหมือนกัน

ทีมข่าว 7HD สอบถามกับ "ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3" บอกว่า ได้เรียกผู้กำกับการสืบสวนกองกำกับการ 3 และรองผู้กำกับการ มาพูดคุยในเบื้องต้นแล้ว ทั้ง 2 อ้างว่า ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยมาจริง และได้ค่าตอบแทนในฐานะวิทยากรเท่านั้น ไม่ได้ส่วนแบ่งจากการที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บค่าคอร์สอบรมจากคนจีน

ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เชิญพยานแวดล้อมซึ่งเป็น "อาจารย์" คนหนึ่งมาสอบปากคำบ้างแล้ว ยังเหลือนายหลี่ ชาง ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการนานาชาติ ที่ยังไม่ได้สอบปากคำ

เชื่อว่าเรื่องนี้ น่าจะมีคนโกหก เพราะเป็นไปได้น้อยมากที่การจัดคอร์สอบรม จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจริง เนื่องจากการอบรม 3 วัน มีทั้งการออกนอกพื้นที่ เพื่อไปฝึกยิงปืน และค่าเครื่องแบบชุดต่าง ๆ อีก

ขณะที่ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คาดว่าวันนี้น่าจะทราบผลเบื้องต้น ว่าเรื่องนี้มีมูลความจริงอย่างไร หากพบว่าตำรวจทั้ง 2 นายเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์ ก็จำเป็นต้องดำเนินการเอาผิดทั้งอาญา และวินัย

จริง ๆ เรื่องนี้ เมื่อวานในรายการ "ถกไม่เถียง" ก็ได้โฟนอินคุยกับคนที่เกี่ยวข้องหลายคนเลย อย่าง นายหลี่ชาง ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการนานาชาติ คุณทิน โชคกมลกิจ ก็ใช้ทักษะภาษาจีน คุยกับปลายสายแบบไม่ต้องมีล่ามมาช่วยแปลด้วย ก่อนสรุปให้ฟังว่า นายหลี่ ชี้แจงว่าวัตถุประสงค์ของการอบรม เพื่อให้นักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนได้รู้กฎหมายไทย โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยสยามอบรมเพียงครึ่งวัน ยืนยันไม่มีการเก็บค่าคอร์สอบรม

อีกคนที่มาช่วยย้ำข้อพิรุธคือ นายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสยาม ที่ชี้ให้เห็นว่าหลักฐานที่เผยแพร่ในโซเชียล มีพิรุธอย่างน้อย 4 จุดด้วยกัน