สธ.เข้มมาตรการรับมือ อหิวาตกโรค หลัง WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่

View icon 274
วันที่ 31 ธ.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สธ. เข้มมาตรการรับมือ อหิวาตกโรค หลัง WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ ย้ำกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หากท้องร่วงรีบพบแทพย์ ขณะที่สถานการณ์ในไทย ยังพบผู้ป่วยอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มลดลงแล้ว

วันนี้ (31 ธ.ค.67) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคอหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ (Major Emergency) ว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ ต่างจากการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) เช่น โรคโควิด-19 โรคฝีดาษลิง ดังนั้น การประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่จะเป็นคนละนัยกับโรคโควิด-19 ที่เมื่อประกาศแล้วจะต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอหิวาตกโรค เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและพบในหลายประเทศมากขึ้นในปี 2567 จากเดิมที่มีการรายงาน 44 ประเทศในปี 2565 ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้เป็นความกังวล แต่หากทุกประเทศร่วมกันป้องกัน ก็จะช่วยควบคุมการแพร่เชื้อได้ เพราะอหิวาตกโรค ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่เรารู้จักกันอยู่

“อหิวาต์เป็น 1 ในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทยลำดับที่ 53 จากทั้งหมด 57 โรค แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายที่มีอยู่ทั้งหมด 13 โรค การป้องกันอหิวาตกโรค สามารถทำได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย การกินของร้อน ใช้ช้อนกลางและหมั่นล้างมือ น้ำที่ใช้ก็จะต้องเติมคลอรีน ถ้าพบว่ามีอาการป่วย ท้องร่วงก็ต้องรีบไปพบแพทย์ ดังนั้น การที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ก็เพื่อให้แต่ละประเทศเกิดความตระหนักมากขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์อหิวาตกโรคในประเทศไทย ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มลดลงแล้ว ซึ่งการที่มีการระบาดของโรคก็จะสร้างภูมิคุ้มกันชั่วคราวให้กับผู้ที่หายป่วย โอกาสที่จะกลับมาระบาดซ้ำก็จะไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด เช่น การปรับปรุงสุขาภิบาลน้ำ ใช้น้ำสะอาดที่เติมคลอรีน อาหารก็ต้องปรุงสุก ทั้งนี้ การป้องกันบริเวณชายแดนไทยมีความเข้มงวดมาก เพราะหากมีคนข้ามแดนกันไปมา ก็มีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยในประเทศได้มากขึ้น