คมนาคม ระดมหน่วยงานในสังกัดรองรับการเดินทางช่วงปีใหม่ วางเป้าลดอุบัติเหตุ 5%

View icon 84
วันที่ 28 ธ.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (28 ธ.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม (ศปภ.คค.) เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางบนโครงข่ายคมนาคมช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 67 - 2 ม.ค. 68 ซึ่งจะบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดด้านข้อมูลการเดินทางด้วยระบบ CCTV จาก 8 หน่วยงาน 454 กล้อง ในทุกโหมดการเดินทาง เพื่อติดตามข้อมูลสภาพจราจรและความหนาแน่นของผู้โดยสาร และข้อมูลความปลอดภัย

ประกอบด้วย การตรวจความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะ ตรวจติดตามข้อมูลการใช้ความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ และระยะเวลาการทำงานของพนักงานขับรถ หากพบการขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่แสดงตนในการขับขี่ ขับเกินระยะเวลาที่กำหนด ระบบจะแจ้งไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อให้แจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการให้จัดการต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการสืบสวนอุบัติเหตุช่วงเทศกาล ซึ่งหากเกิดเหตุจะมีการบัญชาการเร่งด่วนผ่านระบบออนไลน์เพื่อบริหารจัดการเหตุอย่างทันท่วงทีโดยตั้งเป้าหมายจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ตลอดจนจำนวนรถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุลดลง 5% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี

ส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในด้านการอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย

- กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะชั่วคราว ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและป้องกันมิให้ผู้โดยสารถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะนำร่องระบบ "เช็กชัวร์ Ready to go" ยกระดับความเข้มงวดในการตรวจความพร้อมประจำวันก่อนปล่อยรถออกให้บริการ ตรวจสอบความพร้อมรถโดยสารและพนักงานขับรถ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอด Rest Area 13 จังหวัด และ Checking Point 26 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมย้ำให้ผู้ประกอบการแนะนำการปฏิบัติตนบนรถโดยสารกรณีฉุกเฉิน และการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ในรถโดยสารสาธารณะอีกด้วย

- กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้คืนผิวจราจรในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทุกโครงการ ให้สามารถเดินทางได้สะดวก ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย ตรวจสอบความพร้อมไฟฟ้าแสงสว่าง กล้อง CCTV และระบบสื่อสาร รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่พร้อมอำนวยความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน

- บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เตรียมแผนบริหารจัดการเดินรถและเข้าใช้พื้นที่ชานชาลา ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 พร้อมจัดเตรียมรถโดยสารประจำทาง และรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถเสริม 30) ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนเพิ่มจุดจอดรถ บขส. ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สำหรับประชาชนที่จะเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีแดง

- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดตั้งหน่วยบริการประชาชนให้บริการฟรีตรวจเช็กเครื่องยนต์เบื้องต้น สอบถามเส้นทาง บริการน้ำดื่ม ที่ทางพิเศษเข้า - ออกกรุงเทพฯ 6 จุด นอกจากนี้ ได้จัดตั้งวอร์รูม ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 - 3 มกราคม 2568 เพื่อควบคุมสั่งการในการแก้ไขปัญหาการจราจรในทางพิเศษและอุบัติเหตุต่าง ๆ

- การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่มเที่ยวขบวนรถพิเศษในเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออก เฉียงเหนือ และสายใต้ พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิด CCTV ตามสถานีและบนขบวนรถทั่วประเทศ วัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานก่อนปฏิบัติหน้าที่ และห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์บนขบวนรถ และบริเวณสถานีรถไฟอย่างเด็ดขาด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปลอดภัยทั่วประเทศเพื่อรับแจ้งเหตุและประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

- กรมเจ้าท่า (จท.) จัดเตรียมแผนปฏิบัติการและมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 พร้อมออกคำสั่งจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ทางน้ำประจำท่าเทียบ 79 จุด ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 และจัดชุดเจ้าหน้าที่กว่า 800 คน ปฏิบัติการคุมเข้มด้านความปลอดภัย การใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำ ผู้ให้บริการเดินเรือโดยสาร ท่าเทียบเรือ และป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ

- บมจ. ท่าอากาศยานไทย [AOT] คาดว่าจะมีผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยประมาณ 2.8 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศกว่า 1.8 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 1 ล้านคน โดย ทอท. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้โดยสารครบทุกด้าน ทั้งการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก จัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำการใช้บริการต่าง ๆ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมศักยภาพการบริหารจัดการท่าอากาศยาน

- สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง และกำชับให้สายการบินรักษามาตรฐานการให้บริการ เรื่องความตรงต่อเวลาและระดับคุณภาพการให้บริการ ส่วนด้านความปลอดภัยจะมีการสุ่มตรวจระหว่างการปฏิบัติงานจริง ก่อนเที่ยวบินจะออกเดินทาง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ใช้บริการ