20 ปี สึนามิ กับการตื่นรู้ จัดการภัยพิบัติไทย

View icon 103
วันที่ 26 ธ.ค. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ผ่านมา 20 ปี เหตุการณ์สึนามิถล่มโลก สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน และประเทศไทยคือหนึ่งในนั้น นำมาสู่การตื่นรู้ สู้จัดการภัยพิบัติ เรามาย้อนรอยและร่วมกันถอดบทเรียน จากรายงานพิเศษ

ซากปรักหักพังเต็มไปด้วยดินโคลนกองเกยเป็นเนินสูง ทุกอย่างพินาศย่อยยับภายในไม่กี่นาที

เหตุการณ์มหาวิปโยค แผ่นดินไหวใต้ทะเล ขนาด 9.1 นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย จนเกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ถล่ม 14 ประเทศ รอบมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงประเทศไทย ในเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม 2547

ไมตรี จงไกรจักร์ หนุ่มอายุ 31 ปี ชาวบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ยืนดูกำแพงคลื่นสูงวิ่งเข้ามาใกล้หมู่บ้านด้วยความประหลาดใจ ก่อนที่พี่ชายจะตะโกนร้องลั่นว่า "คลื่นยักษ์ถล่มโลก"

ด้วยสัญชาตญาณ เขาจึงรีบพาทุกคนในครอบครัว วิ่งขึ้นไปชั้นบนสุดของบ้าน โดยไม่คาดคิดว่า คลื่นยักษ์จะพรากชีวิตพ่อบังเกิดเกล้าของเขาไปด้วย

ภัยภิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ สร้างความสูญเสีย 6 จังหวัด ชายฝั่งอันดามัน คร่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 5,395 คน โดย จังหวัดพังงา มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 4,225 คน หนึ่งในนั้น คือ พ่อของไมตรี

และยังมีผลกระทบระยะยาว มีเด็ก 882 คน ต้องกำพร้า รวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน อีกจำนวนมาก

ผ่านมา 20 ปี ไมตรี ในวัยหนุ่มที่ประสบภัยพิบัติ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ขับเคลื่อนวาระทางสังคมให้ชุมชนบ้านน้ำเค็ม วันนี้เขามองว่า คนในชุมชนตื่นรู้รับมือภัยพิบัติที่ดี

แต่รัฐบาลกลับยังมีแผนแจ้งเตือนภัยล่าช้า และรวบอำนาจไว้ส่วนกลาง พบมีการส่งเสริมแค่ปีละ 10 ชุมชน จากพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด 40,000 ชุมชน นั่นเท่ากับว่า ต้องใช้เวลาถึง 4,000 ปี จึงจะครบทุกแห่ง

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะรุนแรงมากแค่ไหน หากชุมชนเข้มแข็ง ย่อมช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤต แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าภาครัฐเข้ามาร่วมยกระดับแผนรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง ครอบคลุมทุกชุมชน เพื่อลดการสูญเสีย ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น