หมอเจดเผย "โรคกระดูกพรุน" เป็นได้ทุกวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น

View icon 163
วันที่ 24 ธ.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (24 ธ.ค. 67) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุถึง กระดูกพรุนหรือที่รู้จักในชื่อ “Osteoporosis” เป็นโรคที่กระดูกของเราสูญเสียความแข็งแรง ทำให้เปราะบางและแตกหักได้ง่าย

โดยหลายคนอาจเข้าใจว่าโรคนี้เป็นปัญหาของผู้สูงอายุหรือวัยทองเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว คนหนุ่มสาวก็มีโอกาสเป็นได้ หากไม่ใส่ใจสุขภาพกระดูกอย่างเหมาะสม ลองมาดูกันว่าเรื่องนี้มีอะไรที่เราต้องรู้ และเราจะดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้บ้าง

1. กระดูกพรุนคืออะไร?

กระดูกพรุนเป็นภาวะที่กระดูกของเราสูญเสียแร่ธาตุอย่างแคลเซียมจนทำให้โครงสร้างภายในกระดูกเสื่อมสภาพ กระดูกจะกลายเป็นเหมือน “ฟองน้ำ” ที่มีรูพรุนมากขึ้น นั่นหมายความว่ามันแตกหักได้ง่ายขึ้น แม้จากการหกล้มเบา ๆ หรือการกระแทกเล็กน้อย พูดง่ายๆคือกระดูกของเราจะเสื่อมไปตามธรรมชาติ

โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มสูญเสียมวลกระดูกมากกว่าที่สร้างขึ้น และในทุก ๆ ปี เราสูญเสียมวลกระดูกเฉลี่ย 1%-2% หากเราขาดการดูแล เช่น ไม่รับแคลเซียมเพียงพอ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นได้อีก และกระดูกก็จะพรุนในที่สุด

2. โรคกระดูกพรุนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้สูงอายุ

ก็จริงนะครับที่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเสี่ยงสูง  เพราะขาดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยหรือคนวัยทำงานจะไม่เสี่ยงโรคนี้ เพราะพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหารที่ขาดแคลเซียม ดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์บ่อย ๆ รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน

ลองคิดดูว่าช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น เรามักดื่มนมเยอะเพราะพ่อแม่บอกว่ามันดีต่อกระดูก แต่พอเริ่มโตขึ้น หลายคนกลับละเลยการกินอาหารที่มีแคลเซียม หรือเลือกกินอาหารจานด่วนที่แทบไม่มีสารอาหารที่ดีต่อกระดูกเลย ยิ่งถ้าเราเป็นคนที่ชอบดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม หรือกาแฟบ่อย ๆ ก็ยิ่งแย่ เพราะมันจะไปดึงแคลเซียมออกจากร่างกายเราอีก

3. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เราเสี่ยงเป็นกระดูกพรุน สาเหตุของกระดูกพรุนไม่ได้มีแค่ “อายุ” เท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยในชีวิตประจำวัน เช่น

• กินแคลเซียมไม่พอ: แคลเซียมคือสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ถ้าร่างกายไม่ได้รับเพียงพอ กระดูกก็จะค่อย ๆ เสื่อม

• ขาดการออกกำลังกาย: คนที่ไม่ค่อยขยับตัวหรือไม่ออกกำลังกาย เช่น พนักงานออฟิศที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานทั้งวัน จะมีมวลกระดูกน้อยกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

• ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่: พฤติกรรมที่พูดมาทำให้กระบวนการสร้างกระดูกของเราทำงานได้แย่ลง

• โรคประจำตัวบางชนิด: เช่น เบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับการดูดซึมแคลเซียม ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อกระดูก

4. ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย

ถ้าพูดถึงโรคกระดูกพรุน ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เพราะมวลกระดูกของผู้หญิงมักเริ่มต้นน้อยกว่า และหลังวัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยปกป้องกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กระดูกเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ผู้หญิงควรใส่ใจกับการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ รวมถึงออกกำลังกายแบบที่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก เช่น วิ่งหรือโยคะ เพราะนี่คือช่วงเวลาที่กระดูกของเรายังสร้างมวลได้อยู่

5. วิธีป้องกันกระดูกพรุนง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้ถ้าไม่อยากกระดูกพรุนทำตามข้อนี้นะ

• กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง: เช่น นม โยเกิร์ต เต้าหู้ ผักใบเขียว และปลาเล็กปลาน้อย หรือถ้าใครกังวลว่าจะรับแคลเซียมได้ไม่เพียงพอ ก็ทานเป็นแบบอาหารเสริมก็ได้นะครับ

• รับแสงแดด: แสงแดดช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียม

• ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก: เช่น เดิน วิ่ง หรือกระโดดเชือก เพื่อกระตุ้นการสร้างกระดูก

• ลดพฤติกรรมเสี่ยง: เลิกสูบบุหรี่ ดื่มน้ำหวานหรือแอลกอฮอล์ให้น้อยลง
ลองเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ ก่อน เช่น แทนที่จะดื่มน้ำอัดลมกับข้าวเที่ยง เปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าหรือนมแทน แค่ปรับร่างกายก็ดีขึ้น และลดความเสี่ยงกระดูกพรุนได้ครับ

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้สำคัญมากนะครับ ถ้าปล่อยให้กระดูกพรุนเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ป้องกัน ก็จะเกิดปัหญาร้ายแรงตามมา เช่น กระดูกแตกหรือหักจากการล้มเบา ๆ หรือแม้แต่กระดูกสันหลังยุบตัว ซึ่งทำให้เราเสียบุคลิกภาพ หรือแย่ที่สุดคือการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว หรือป่วยติดเตียงได้

นอกจากนั้นการฟื้นฟูหลังการกระดูกหักก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ บางคนอาจต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานานและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาอีก

หมอเจดฝากเป็นข้อคิดทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ การดูแลกระดูกคือเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ ไม่ต้องรอจนถึงวัยทองนะ  เพราะถ้าเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว แคลเซียมอาจจะไม่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น

เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มตั้งแต่ตอนที่มีโอกาส มันก็เหมือนกับการออมเงินแหละ ถ้าเราออมวันนี้ เราก็จะมีใช้ตอนอายุเยอะ ยังไงก็ดูแลตัวเองกันด้วยนะครับ