คลี่ปม ชาล็อต หลงกลมิจฉาชีพ

View icon 64
วันที่ 12 ธ.ค. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - สังคมคาใจอยู่ไม่น้อยว่าทำไม "ชาล็อต" ถึงหลงเชื่อ ยอมโอนเงินไปให้มิจฉาชีพถึงกว่า 4 ล้านบาท ตอนนี้ตำรวจทำอะไรอยู่ และคดีไปถึงไหนแล้ว

เดี๋ยวนี้แก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้ AI เอาภาพตำรวจจริงมาสวมทับใบหน้าคนร้ายเพื่อความแนบเนียน ซึ่งเรื่องนี้เคยนำเสนอข่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ย้อนไปฟังคำรับสารภาพของผู้ต้องหาในคดีนั้นกัน

ตอนนั้นผู้ต้องหาซึ่งเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ สาย 2 รับว่าตัวเองจะสวมรอยเป็นตำรวจ สภ.มุกดาหาร หลอกเหยื่อและยัดคดี เพื่อให้เหยื่อยอมโอนเงินมาตรวจสอบ และยังบอกด้วยว่า มีคนไทยรอก่อคดีแบบนี้อีกเพียบ

ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันไปเล็กน้อย อย่างคดีของ "ชาล็อต" จะมีทั้งการใช้คนอ้างตัวเป็น DSI ใช้ "ไม้แข็ง" ทำให้เกิดความหวาดกลัว ก่อนส่งต่อมิจฉาชีพอีกคนสวมรอยเป็นตำรวจไซเบอร์ ใช้ "ไม้อ่อน" หว่านล้อมให้เหยื่อหลงเชื่อ และยอมโอนเงิน 4 ครั้ง รวมกว่า 4 ล้านบาท

ซึ่งขั้นตอนวิธีการหลอกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับ "ชาล็อต" ถูกถ่ายทอดบอกกับพนักงานสอบสวนที่ สน.สุทธิสาร และตำรวจไซเบอร์ อย่างชัดเจน ลำดับเหตุการณ์ได้โดยละเอียด จึงค่อนข้างเชื่อได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง

แล้วทำไม "ชาล็อต" ถึงหลงเชื่อ นั่นก็เพราะ "ชาล็อต" ไม่รู้จริง ๆ ว่า ตำรวจ หรือ DSI แต่งกายอย่างไร และเพราะก่อนหน้านี้ "ชาล็อต" เพิ่งเจอคดี "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์" ไปได้ไม่นาน พอมีคนโทร.มาอ้างเรื่องแบบนี้ เลยขอลองฟังข้อเท็จจริงก่อน แต่พอฟังไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มกลัว จึงยอมทำตาม ซึ่งความหวาดกลัวนี้ยังแสดงออกมาให้เห็นระหว่างที่มีการสอบปากคำด้วย

สอบถามเรื่องคดีกับ ผู้บังคับการ สอท.1 หรือตำรวจไซเบอร์ 1 บอกตอนนี้กำลังเตรียมขอศาลฯ ออกหมายจับ บัญชีม้าแถวแรก และไล่เส้นทางการเงิน เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้ จะมีข่าวดี

นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า ข้อมูลผู้เสียหายในช่วงเกือบ 3 ปีมานี้ พบว่าส่วนใหญ่เหยื่อจะเป็นผู้หญิงมากถึง 63% เพราะผู้หญิงมีความอ่อนโยนกว่า หลงเชื่อง่าย และมีความหวาดกลัวมากกว่าผู้ชาย จึงฝากเตือนว่าถ้าเจอลักษณะแบบนี้ ให้คิดง่าย ๆ "ไม่มีหน่วยงานไหน ใช้วิธีวิดีโอคอลไปคุยกับผู้เสียหาย หรือส่งหมายจับออนไลน์ไปให้ผู้ต้องหา" ถ้าอีกฝ่ายอ้างตัวเป็นตำรวจ ให้ขอเบอร์ บอกว่าจะโทร.กลับ ให้รับสายด้วย แล้วกดวางสาย ถ้าโทร.กลับไปหาแล้วไม่ติด ให้สันนิษฐานได้เลยว่า นั่นคือ มิจฉาชีพ