แจกเงินหมื่นเฟส 2 ยังไม่เข้า ครม. ยันแจกทันใน ม.ค.

View icon 65
วันที่ 11 ธ.ค. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ความคืบหน้าเรื่องการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ผู้สูงอายุ ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันนี้ แต่ นายจุลพันธ์ ยืนยันเป็นไปตามกรอบเดิม คือ จ่ายเงินภายใน 29 มกราคม 2568

แจกเงินหมื่นเฟส 2 ยังไม่เข้าครม. ยันแจกทันใน ม.ค.
นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสสอง สำหรับผู้สูงอายุว่า ยังไม่เข้าที่ประชุม ครม.ในวันนี้ แต่ยืนยันว่า ยังเป็นไปตามกรอบเวลาคือ ภายในวันที่ 29 มกราคม 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารทางราชการ ไม่ได้ติดขัดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เพียงแต่เป็นการทำกระบวนการให้ครบถ้วน รวมถึงการรอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่า การแจกเงินเฟสสอง อาจถูกโยงไปกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายจุลพันธ์ จะตอบว่า อย่างไร

พิชัย ลั่นแจกเงินหมื่นเฟสต่อไปมีแน่
ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟส 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุว่า เรื่องนี้กำลังจะพิจารณาดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีการยื่นเรื่องมาให้ตนได้พิจาณาในหลายทางเลือก พร้อมยืนยันว่า จะเดินหน้าแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสต่อ ๆ ไปแน่นอน

มั่นใจขึ้นค่าแรง 400 บาททันปีใหม่
ส่วนความคืบหน้าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี เพื่อพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) หลังจากบอร์ดไตรภาคีครบสมบูรณ์ทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว เรื่องนี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า การประชุมในวันพรุ่งนี้ จะเป็นการนำนโยบายของรัฐบาลมาหารือ หากทุกฝ่ายเห็นด้วยและมีมติผ่าน ก็จะมีการเรียกประชุมในวันที่ 23 ธันวาคม เชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยดี หากผ่านความเห็นชอบของบอร์ดก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป ยืนยันว่า ทันเป็นของขวัญปีใหม่ เพราะได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงานเป็นที่เรียบร้อย

ส่วนกรณีที่ฝ่ายจ้าง ยืนยันว่า ไม่อยากให้ขึ้นค่าแรงในตอนนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงแรงงานมีการคุยกันนอกรอบบ้างแล้ว ซึ่งเรามีวิธีการแนะแนวทางที่จะทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด แต่ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมยืนยันว่า มีของขวัญปีใหม่แน่นอน แต่ขอให้ทุกอย่างสะเด็ดน้ำ แล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า

เผยแนวโน้มสูงขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ
ภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี แถลงถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคี ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ และจากที่สอบถามจากรัฐมนตรีคิดว่าน่าจะได้ข่าวดีในปี 2568 แน่นอน ส่วนจะได้ทั่วประเทศหรือไม่ ต้องรอดูในรายละเอียด แต่มีความเป็นไปได้สูง

ครม.เคาะจ่ายไร่ละ 1,000 บาท เริ่ม 16 ธ.ค.
นางสาวแพทองธาร แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า หลังจาก ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา เรื่องโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/2568 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ ไม่เกิน 10,000 บาท

โดยกระทรวงการคลังจะจ่ายให้เกษตรกร 4.3 ล้านราย ใช้งบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เริ่มจ่ายเงินวันที่ 16-20 ธันวาคมนี้ โดยจ่ายวันละภาค ใช้เวลาทั้งหมด 5 วัน เงื่อนไข ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร

ครม.อนุมัติมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน
นางสาวแพทองธาร ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีการอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงช่วยหนี้กลุ่มเปราะบางกลุ่มอื่นของสถาบันการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนด้วยเรื่องการลดภาระการชำระหนี้ และดอกเบี้ย ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เน้นการตัดเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการให้ลูกหนี้ NPL ที่มียอดมูลนี้ไม่เกิน 5,000 บาท สามารถปิดหนี้ได้

ครม.ช่วยลูกหนี้ พักชำระดอกเบี้ย 3 ปี
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงในรายละเอียดว่า ว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย 1.มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ย เน้นตัดต้นเงินลูกหนี้ ในสินเชื่อ 3 ประเภท คือ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5 ล้านบาท สินเชื่อรถเช่าซื้อรถยนต์ ไม่เกิน 800,000 บาท และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 500,000 บาท และสินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มเอ ไม่เกิน 5 ล้านบาท

รูปแบบการช่วยเหลือ คือ การลดภาระการผ่อนชำะค่างวด ระยะเวลา 3 ปี ปีที่ 1 ชำระค่างวดร้อยละ 50 ปีที่ 2 ชำระร้อยละ 70 และปีที่ 3 ชำระร้อยละ 90 ค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด เพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น และดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้

ส่วนมาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ที่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้เสีย (NPLs) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระร้อยละ 10 ภาครัฐรับภาระ ร้อยละ 45 และสถาบันการเงินรับภาระ ร้อยละ 45 ของภาระหนี้คงค้าง

ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร คือ ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเหลือ 70% ของค่างวด ก่อนเข้าร่วมมาตรการเป็นระยะเวลา 3 ปี ลดอัตราดอกเบี้ย 10% จากอัตราดอกเบี้ย ก่อนเข้าร่วมมาตรการ ตลอดระยะเวลา 3 ปี

คลัง-ธปท.เปิดตัวโครงการ คุณสู้ เราช่วย
จากนั้นช่วง 14.00 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานงานเปิดตัวโครงการ คุณสู้ เราช่วย เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และเอสเอ็มอี โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (TBA) และสมาคมธนาคารนานาชาติ (AIB)

สโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 จ่ายตรง คงทรัพย์ เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น 

และมาตรการที่ 2 "จ่าย ปิด จบ" เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย แต่มียอดคงค้างหนี้ ไม่เกิน 5,000 บาท โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน เปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้จาก "หนี้เสีย" เป็น "ปิดจบหนี้"

ขณะที่นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ งบประมาณ 1,900 ล้านบาทให้การไฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อช่วยบรรเทาค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง (ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน) เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.67 โดยลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย เป็นในส่วนของ กฟน. 2.31 ล้านราย และ กฟภ.16.55 ล้านราย