เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ขอเสนอสารคดีเฉลิมพระเกียรติ ตอน "พัชรกิติยาภา เจ้าฟ้าของปวงประชา"

View icon 101
วันที่ 7 ธ.ค. 2567
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2521 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงมีพระอุปนิสัยร่าเริงสดใสตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบรมวงศานุวงศ์และราษฎรทุกหมู่เหล่า

ทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระบุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยได้ตามเสด็จไปทรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงศึกษาเรียนรู้การปฏิบัติพระกรณียกิจจากการทรงลงพื้นที่จริงซึ่งมีความหลากหลาย แล้วทรงนำมาปรับใช้ในการทรงงานเพื่อทรงแบ่งเบาพระราชภาระในภายหลัง โดยทรงปฏิบัติพระกรณียกิจมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถในงานด้านนิติศาสตร์และการต่างประเทศ จึงทรงมุ่งมั่นทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือราษฎรผ่านการทรงงานอย่างมิทรงย่อท้อ ทรงสั่งสมพระประสบการณ์ผ่านการทรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระเกียรติคุณจึงเป็นที่ประจักษ์แจ้ง และทรงได้รับการยกย่องในประชาคมโลก 

พระกรณียกิจสำคัญที่ทรงเอาพระทัยใส่อย่างต่อเนื่อง คือ การทรงงานเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือผู้ต้องขัง ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เคยก้าวพลาดให้ตระหนักว่ายังมีผู้ที่เต็มใจจะให้โอกาสและเอาใจช่วยให้พวกเขาสามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้ โดยจัดโครงการฝึกอบรมวิชาชีพภายในเรือนจำและทัณฑสถานที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต เมื่อทุกคนได้รับโอกาสที่สมควรแล้ว จะต้องรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยลดการกระทำผิดซ้ำซ้อน สามารถกลับมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ช่วยให้สังคมส่วนรวมกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านกีฬาให้กับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ มีพระดำริให้จัดตั้งสโมสรกีฬาบีบีจี ขึ้นด้วยทรงเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของการนำกีฬามาใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

และทรงสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการช่วยเหลือผู้ต้องขังป่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม ผ่านโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการโครงการฯ เป็นการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพหลังจากพ้นโทษ สอดคล้องกับข้อกำหนดแมนเดลา ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ที่มีหัวใจสำคัญคือ การไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงผลักดันให้เกิดการบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง

ในยามที่ราษฎรเดือดร้อนจากภัยพิบัติ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรอย่างทันท่วงที ด้วยทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย

นอกจากนี้ ทรงสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และดูแลช้าง ก่อเกิดเป็นโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อดูแลสร้างความสมดุลระหว่างคนกับช้างในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง, จันทบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะกรรมการฯ 

ตลอดระยะเวลาการทรงงาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระกรณียกิจ โดยทรงนำความรู้และพระประสบการณ์จากการทรงงานในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและเวทีโลกมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาประเทศชาติและประชาชน อันเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาราษฎร สมดั่งที่ทรงเป็น "เจ้าฟ้าของปวงประชา" อย่างแท้จริง