เปิดแผนที่จังหวัดภาคใต้ ประสบอุทกภัย
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ฝนตกต่อเนื่องหลายวันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กำลังเผชิญฝนตกหนักแม่น้ำสายหลัก ๆ เอ่อทะลักท่วมครั้งรุนแรง
เปิดแผนที่จังหวัดภาคใต้ ประสบอุทกภัย
ตามข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ขณะนี้ภาคใต้ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 จังหวัด 50 อำเภอ 321 ตำบล 1,884 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136,219 ครัวเรือน เริ่มที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 อำเภอ คือ กาญจนดิษฐ์ และ อำเภอดอนสัก
จังหวัดนครศรีธรรมราช 8 อำเภอ คือ ชะอวด, เฉลิมพระเกียรติ, พระพรหม, เมืองนครศรีธรรมราช, ร่อนพิบูลย์, จุฬาภรณ์, ปากพนัง, พรหมคีรี และ สตูล 1 อำเภอ คือ ควนโดน ชาวบ้านเดือดร้อน 273 ครัวเรือน
ส่วนที่จังหวัดสงขลา น้ำท่วมกระจายเป็นวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านใน 15 อำเภอ เทพา, หาดใหญ่ สิงหนคร, ปากพนัง, พรหมคีรี, ระโนด, สะเดา, บางกล่ำ สะบ้าย้อย, นาทวี, จะนะ, รัตภูมิ, เมืองสงขลา, นาหม่อม, กระแสสินธุ์ ควนเนียง, คลองหอยโข่ง
แต่พื้นที่น้ำท่วมหนัก ๆ กระทบชีวิตความเป็นอยู่ทั้งคน และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ อย่างพวกวัว แพะ ต้องเร่งอพยพไปอยู่ยังสถานที่ปลอดภัย เห็นจะเป็น 3 จังหวัดปลายด้ามขวานของประเทศ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ซึ่งช่วงนี้ทุกปี มีฝนตกน้ำท่วมประจำ แต่ว่าไม่หนักหนาสาหัสเท่าปีนี้
เพจเฟซบุ๊ก "สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา" ได้โพสต์ภาพเทียบภาพเก่าน้ำท่วมทั่วเมืองยะลา เมื่อปี 2531 มาเทียบน้ำที่กำลังท่วมในขณะนี้ จะเห็นทั้งสองภาพระดับน้ำสูงพอ ๆ กันประมาณเข่า ก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความเห็น บางส่วนกังวลว่าปีนี้จะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2531
"อาจารย์ธรณ์" ชี้อากาศแปรปรวน ปัจจัยน้ำท่วมหนักภาคใต้
ประเด็นที่ว่าทำไมรอบนี้พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดน ประสบอุทกภัยหนัก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊กว่า "โลกยิ่งร้อนเท่าไร สภาพอากาศยิ่งแปรปรวน แม้ไม่มีพายุ แต่ฝนตกในภาคใต้เทียบเท่าปริมาณน้ำฝนจากไต้ฝุ่น ส่งกำลังใจไปให้พี่น้องคนใต้ครับ"
อาจารย์ธรณ์ ยังนำข้อมูลกราฟที่ได้จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) มาโพสต์ได้เห็นถึงปัจจัยส่งผลให้น้ำท่วมภาคใต้รุนแรง โดยกราฟแสดงระดับน้ำตลอดเดือนพฤศจิกายน สถานการณ์ยังปกติ จนถึงช่วง 09.00 น. วันอังคาร (26 พ.ย.) น้ำยังสูงแค่ 12 เมตรเศษ ต่ำกว่าตลิ่ง แต่ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนสะสมหลายร้อยมิลลิเมตร ไหลจากทุกทิศมารวมกัน น้ำเพิ่มขึ้นฉับพลัน ทำให้ช่วงวันพุธ จนถึงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27-28 พ.ย.) น้ำล้นตลิ่ง 2.75 เมตร และมีฝนตกไม่หยุด จึงเกิดภาพผู้ประสบภัยอพยพหนีน้ำท่วม
นั่นคือความน่ากลัวของสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ไทยกำลังเผชิญ เห็นได้จากน้ำท่วมตั้งแต่เหนือสุด (แม่สาย) จนถึงภาคใต้สุด (ยะลา นราธิวาส) เป็นผลจากภาวะโลกร้อน น้ำในทะเลระเหยมากขึ้น ฝนตกในช่วงเวลาเท่าเดิม แต่ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าเดิม บางจุดปริมาณน้ำฝนสะสมหลายแห่งเกิน 300 มิลลิเมตร ถือว่าเยอะผิดปกติ
ขอบคุณภาพจาก : Facebook สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จ.ยะลา, Thon Thamrongnawasawat