กระทรวงเกษตรฯ เร่งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา

View icon 73
วันที่ 28 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ลดลงให้ได้ กษ. เดินหน้าสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา หันมาทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (28 พ.ย.67)ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน ”Kick Off มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ถึงการปฏิบัติงานตามแนวทางขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง และการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากปัจจุบัน PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและภาคเหนือของประเทศไทย ที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก สูงเกินค่ามาตรฐาน และมีแนวโนมเพิ่มสูงขึ้น

“กรมส่งเสริมการเกษตร ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการตระหนักรู้ให้เกษตรกรหยุดเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มข้น อีกทั้ง ต้องไม่เป็นการบังคับเกษตรกร แต่ต้องสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรแบบไม่เผา อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูง หรือสร้างช่องทางการจัดจําหน่ายให้ได้ราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป ดังนั้น จึงต้องร่วมกับหน่วยงาน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีให้ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน ” นางนฤมล กล่าว

ส่วนปัญหาหมอกควันที่มาจากต่างประเทศ นางนฤมล ระบุ ได้มีการเจรจาหารือกันในระดับรัฐบาล เพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผา รวมถึงให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 โดยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ขึ้นบินสำรวจสภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งติดตามการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และจะนำไปขยายในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้ข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) จาก GISTDA ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การเผาในพื้นที่เกษตร ของประเทศไทยจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 พบจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เกษตร ในประเทศไทยจำนวน 3,255 จุด จากเดิมปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 3,647 จุด พบว่าลดลง จำนวน 392 จุด คิดเป็นร้อยละ 10.75 สำหรับผลการดำเนินงานบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปี 2567 รายพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ไม้ยืนต้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2567 มีปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมดประมาณ 48.6 ล้านตัน นำไปใช้แล้วประมาณ 33.54 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 69 เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.2 พันล้านบาท