ชัชชาติ ยื่นสภา กทม. ขอชำระหนี้ BTS กว่า 14,000 ล้านบาท

View icon 163
วันที่ 22 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผู้ว่า ฯ ชัชชาติ ยื่นสภา กทม. ขอชำระหนี้  BTS กว่า 14,000 ล้านบาท  มั่นใจพิจารณารอบคอบแล้ว

วันนี้ (22 พ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม พร้อมมด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ. .... เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความประสงค์ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามความจำเป็นที่หน่วยงานเสนอ เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ภายใน 180 วัน ครบกำหนดวันที่ 21 มกราคม 2568 และขณะนี้ระยะเวลาได้ผ่านล่วงมาแล้ว มีผลให้กรุงเทพมหานครต้องชำระดอกเบี้ยอันเกิดจากความล่าช้าในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับกรุงเทพมหานคร จึงเห็นควรเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ...

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครนั้น พิจารณาเรื่องการชำระหนี้ฯ เป็นไปตามขั้นตอนทุกประการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุดโดยไม่มีการเร่งรัดกระบวนการเพราะความกังวลเรื่องเสียค่าปรับ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจและมั่นใจว่า กทม. จะดูแลเงินภาษีของประชาชนอย่างดีที่สุด ส่วนตัวจึงไม่กังวลในเรื่องของมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เนื่องจาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการ และผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภากรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กทม. มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท จึงมีเงินพอจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าว 14,549,503,800 บาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความประสงค์ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคาดว่าน่าจะจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าวได้ภายในปีนี้ ก่อนกำหนดที่ศาลปกครองสูงสุดตั้งไว้ตามคำพิพากษา คือ กทม. ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ภายใน 180 วัน ก่อนวันที่ 21 มกราคม 2568 ซึ่งการพิจารณาชำระหนี้ก้อนดังกล่าวได้พิจารณาอย่างรอบคอบทุกด้านแล้วและได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว  เนื่องจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานครมีหน้าที่ปกป้องเงินภาษีของประชาชนให้รอบคอบที่สุด นอกจากนี้หากสภากรุงเทพมาขอพิจารณาเงินก้อนนี้จ่ายหนี้ไป ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้น GDP ในช่วงปลายปีอีกทางด้วย เนื่องจากเมื่อภาคเอกชนได้รับการชำระหนี้ก้อนนี้ไปก็จะนำไปหมุนเวียนทางธุรกิจ เช่น จ่ายผู้รับเหมา จ่ายแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่ดีที่วันนี้เรื่องชำระหนี้ก้อนดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและทุกอย่างตกผลึก จนผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีความมั่นใจว่าสามารถจ่ายชำระหนี้ก้อนนี้ได้

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสำนวนที่ ป.ป.ช. ส่งมาให้ กทม. นั้น ห้ามมิให้เปิดเผยสำนวนการไต่สวน โดยเฉพาะชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือการกระทำใด ๆ อันให้ทราบถึงรายละเอียด ตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ดังนั้น กทม. จึงยังไม่สามารถส่งสำนวนให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. ยังไม่อนุญาต แต่ข้อกังวลเรื่องนี้ก็ตกไปเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว จนนำมาซึ่งการมีคำสั่งให้ กทม. จ่ายเงินชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ 14,549,503,800 บาท ดังนั้นในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางวินัยและอาญา จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ตามคำสั่งของ ป.ป.ช.

“ขณะนี้เรามองไปถึงอนาคต ที่ยังมีหนี้อีก 1 ก้อน ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง รวมถึงสัมปทานที่ให้เอกชนดำเนินการเดินรถฯ ที่จะหมดลงในปี 2572 ทำให้การเดินรถ BTS ช่วงไข่แดง (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทางรวม 23.5 กม. 24 สถานี) ก็จะกลับมาเป็นของ กทม. ทั้งหมด ทั้งส่วนของรายได้และตัวโครงสร้าง กทม.จึงต้องเตรียมวางแผนเรื่องจ้างที่ปรึกษาฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อไป โดยต้องผ่านกระบวนการคิดร่วมกับสภากรุงเทพมหานครให้รอบคอบตามประเด็นข้อบัญญัติต่าง ๆ ของกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคดีความต่อไปในอนาคต” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 คดีหมายเลขดำดำที่ อ.2226/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.725/2567 มีผลพิจารณาคดี ดังนี้
1. ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสังชี้ขาดคดีปคครองใหม่ ตามมาตร 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หนังสือแจ้งคำสั่งศาล คดีหมายเลขดำที่ พม. 76/2567 คดีหมายเลขแดงที่ พน. 92/2567 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2567 และหนังสือแจ้งคำสั่งศาล คดีหมายเลขดำที่ พม. 81/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ผม. 93/2567 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2567
2. สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสูงสด พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขลขดำที่ พบ. 81/2567 คดีหมายเลขแดงที่ พม. 93/2567 ดังกล่าว ชอบด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงควรไม่อุทธรณ์ หนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0042.2/2064 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2567 เรื่อง แจ้งคำสั่งของศาลปกครอง
3. สำนักงานกฎหมายและคดี เห็นควรไม่อุทธรณ์ ตามควานเห็นของสำนักการจราจรและขนส่ง ซึ่งไม่มีความเห็นใดที่จะมาขัดหรือแย้งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสงสูงสุดได้ ประกอบกับต้องเร่งรัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อมิให้เกิดภาระดอกเบี้ย ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กท 0405/6695 ลงวันที่ 11 พ.ย. 2567 เรื่อง รายงานผลคดี ขออนุมัติไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางฯ

โดยวันนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัตินี้ และได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ. .... 24 ท่าน โดยกำหนดระยะเวลาการแปรญัตติ 10 วันทำการ และกำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน