ศาลฯ สั่งประหารชีวิต แอม คดีไซยาไนด์

View icon 175
วันที่ 20 พ.ย. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ศาลอาญาพิพากษา ประหารชีวิต "แอม สรารัตน์" คดีไซยาไนด์ หลังก่อเหตุ วางยาฆาตกรรม เหยื่อ 15 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้รอดชีวิต 1 คน ซึ่งวันนี้เป็นการตัดสินในคดีแรก โดยก่อนที่ศาลจะตัดสิน แม่ของก้อย 1 ในผู้เสียชีวิต กอดรูปลูกสาว ขอคืนความยุติธรรม ระบุ ไม่อยากให้ลูกตายฟรี

ศาลฯ สั่งประหารชีวิต "แอม" คดีไซยาไนด์
วันนี้ ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา คดีวางยาฆ่าผู้อื่นที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 และ แม่ของ นางสาวศิริพร หรือ ก้อย ผู้เสียชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง พร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน 30 ล้านบาท

โดยมีนางสรารัตน์ หรือ "แอม" เป็นจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ส่วนจำเลยที่ 2 คือ พันตำรวจโท วิฑูรย์ อดีตสามี และ นางสาวธันย์นิชา หรือ ทนายพัช จำเลยที่ 3 ในความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน

ก่อนขึ้นศาล แม่ของนาวสาวศิริพร ได้กอดรูปภาพของลูกสาว พร้อมเผยว่า วันนี้ตนมาเพื่อทวง ขอความเป็นธรรมให้ลูก "ขอให้ชนะ ขอให้ความเป็นธรรม มีผล" ส่วนเรื่องคดียังมั่นใจว่าเขาทำลูกแน่ ๆ วันนี้ก็ขอให้เขาชดใช้ และลูกต้องไม่ตายฟรี

ย้อนวีรกรรม "แอม" วางยาฆาตกรรมเหยื่อ
คดีนี้เริ่มต้น ก้อย ชาวกาญจนบุรี หายตัวไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 โดยครอบครัวพยายามตามหา ก่อนสุดท้ายพบว่า ก้อย ไปเสียชีวิตริมท่าน้ำใน อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้น พี่สาวได้ติดต่อเพื่อนของก้อย ที่ชื่อแอม แต่เธอปฏิเสธ อ้างอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ต่อมาตำรวจ สภ.บ้านโป่ง เปิดกล้องวงจรปิดที่ท่าน้ำจุดเกิดเหตุ จนพบว่ามีผู้หญิงสาวเสื้อสีขาว ไปกับผู้เสียชีวิตด้วย ซึ่งหญิงดังกล่าวมีรูปร่างคล้าย "แอม" ประกอบกับไปพบทรัพย์สินของก้อยที่หายไป

ประกอบด้วย รถเก๋ง 1 คัน, กระเป๋าหลุยส์ ราคาประมาณ 40,000 บาท และมือถืออีก 2 เครื่อง อยู่กับแอม ตำรวจจึงเรียกตัว "แอม" มาสอบ แต่เธอยังคงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

กระทั่ง มีญาติผู้เสียชีวิตรายอื่น ที่เชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับ "แอม" ได้ติดต่อเข้ามา ก่อนเริ่มมีการเปิดข้อมูลการเสียชีวิตในลักษณะคล้ายกับก้อย ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ราชบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม รวมถึงอยู่ในแวดวงตำรวจ ภรรยาตำรวจ มีความสัมพันธ์เรื่องเงินกับ "แอม" และ "แอม" มักจะอยู่กับ ผู้เสียชีวิตเป็นคนสุดท้าย ตำรวจขยายผล จนพบอีก 14 รายที่เชื่อมโยงกับ "แอม" (รวมก้อยเป็น 15 ราย)

สุดท้าย นางสรารัตน์ หรือ แอม ตกเป็นผู้ต้องหาวางยาฆ่าเจ้าหนี้ 15 คดี ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยคดีแรกเกิดในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีความเกี่ยวพันกับแอม ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ นายหน้าขายรถมือสอง และลูกวงแชร์

คดีนี้ ตำรวจได้สอบปากคำทั้งหมดกว่า 900 ปาก ใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่า 3 เดือน จนสรุปสำนวนดำเนินคดีแอม ไซยาไนด์ รวม 15 คดี และได้แจ้งข้อหาแอม รวมกว่า 75 ข้อหา

ศาลสั่งประหารชีวิต "แอม" คดีไซยาไนด์
ล่าสุด ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นางสรารัตน์ จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่านางสาวก้อย โดยนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษปลอมปนใส่ลงในอาหารหรือน้ำดื่ม เพื่อให้ผู้ตายดื่มหรือกินระหว่างที่ จำเลยที่ 1 กับผู้ตาย ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เดินทางไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

อีกทั้งตอนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่มีท่าทีตกใจหรือกระวนกระวาย กลับเดินไปหยิบของบางอย่างในรถ แสดงให้เห็นเจตนาว่ารู้ลำดับเหตุการณ์จะเกิดอะไรขี้น ก่อนนำทรัพย์สินของผู้ตาย 9 รายการ มูลค่ารวม 154,630 บาท ไป นอกจากนี้ ยังพบว่า "แอม" มีปัญหาหนี้สินหลายสิบล้านบาท และยังมีการโอนเงิน ให้บัญชีม้า พนันออนไลน์ 88 ครั้ง กว่า 93 ล้านบาท

ส่วนอดีตสามีแอม พันตำรวจโท วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งสูง มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการสอบสวน เป็นไปไม่ได้ที่จะมีทักท้วงว่า ไม่มีความผิด

จึงไม่เชื่อว่าจะถูกข่มขู่เซ็นให้การตามคำฟ้องและมีการ ให้การ ด้วยความสมัครใจ อีกทั้งคำให้การจำเลยที่ 1 2 3 สอดคล้องกัน ไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตกแต่งสำนวน ปรักปรำ จำเลยที่ 2

ส่วนทนายพัช จำเลยที่ 3 มีเกียรติ ผดุงความยุติธรรม แต่เข้าไปมีส่วนร่วม เกินเลยบทบาทหน้าที่ ใช้คำพูดยุยง บงการให้ทำตามคำแนะนำ "ถ้าสู้คดีให้หลุดต้องไม่มีกระเป๋าของกลาง" จำเลยที่ 1 จึงไม่คืนกระเป๋าหรู ของกลางให้ตามความบริสุทธิ์ใจ แต่นำไปซุกซ่อนแทนที่จะคืนกับญาติ หรือส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ ศาลจึงเชื่อว่ามีพฤติการณ์กระทำการนอกเหนือบทบาทของทนายความ มีเจตนาชัดเจนชี้แนะซ่อนเร้นพยานหลักฐาน

ศาลวิเคราห์แล้วว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่จำเลยโต้แย้งมาไม่สามารถหักล้างได้ ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" ส่วนอดีตสามี คุก 2 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คง เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ส่วน "ทนายพัช" คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชดใช้ให้ผู้เสียหาย กว่า 2 ล้านบาท

ส่วนบรรยากาศภายในห้องพิพากษา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เบิกตัว แอม มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง เจ้าตัวมีสีหน้าเรียบเฉย ร่างกายซูบผอมลง 

ส่วนทนายพัช (จำเลยที่ 3) และ พันตำรวจโทวิฑูรย์ ( จำเลยที่ 2) สีหน้าเรียบเฉย ตลอดการฟังคำพิพากษา และทันทีที่ได้ยินคำพิพากษา จำเลยทั้ง 3 คน ไม่มีการแสดงอาการเสียใจ และมีบางจังหวะที่ จำเลยทั้ง 3 หันมาคุยกันแล้วหัวเราะออกมา

"แม่ก้อย" เปิดใจลูกสาวได้รับความเป็นธรรม
ภายหลังมีคำพิพากษา นางพิน แม่ของนางสาวก้อย เปิดใจพร้อมน้ำตา กล่าวขอบคุณที่ศาล ให้ความยุติธรรม และอยากจะบอกกับลูกสาวว่า "ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ขอให้นอนหลับให้สบาย ไม่มีอะไรที่ต้องห่วง"

นอกจากนี้ นางพิน ยังบอกอีกว่า ทันทีที่ได้เจอหน้า แอม ไซยาไนด์ ในห้องพิจารณาคดี ด้วยความที่ตนยังรู้สึกโกรธแค้น ไม่อยากจะมองหน้า แต่พอเหลือบไปเห็นสายตาแอม ก็ยังดูปกติ ไม่มีท่าทีสลด ขณะที่ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต แอมก็ยังดูเป็นปกติ

ด้าน นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ เผยว่า วันนี้ศาลได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลพิพากษา แต่มีการพูดถึงพยานจากคดีอื่นด้วย ซึ่งสามารถนำคำพิพากษาในคดีนี้ เป็นแนวทางในการพิพากษาคดีอื่นที่เกี่ยวกับแอม ที่มีการเสียชีวิตอีกด้วย

ส่วนคดีอื่นที่เกี่ยวกับ แอม พนักงานอัยการจะนำสำนวนอีก 14 คดี ของ แอม ไซยาไนด์ มามอบให้กับศาลในวันอังคารที่จะถึงนี้

เผยนักโทษถูกประหารชีวิตรายล่าสุดเมื่อปี 61
ประเทศไทย ยังมี "โทษประหารชีวิต" แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ได้เกิดขึ้นกับ "นักโทษเด็ดขาด" ทุกคน

คนล่าสุดที่ได้รับโทษประหารชีวิตและถูกประหารชีวิต เกิดขึ้นในปี 2561 คือ คดี "มิก หลงจิ" หรือ นายธีรศักดิ์ หลงจิ นักโทษในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 โดยนายธีรศักดิ์ ใช้มีดแทง นายดนุเดช อายุ 17 ปี จำนวน 24 แผลเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เพื่อชิงทรัพย์ใน จังหวัดตรัง

หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาประหารชีวิต นายธีรศักดิ์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกยกฎีกาและได้รับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ที่เรือนจำกลางบางขวาง ถือเป็นผู้ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษเป็นรายที่ 7 หลังจากที่ประเทศไทย ว่างเว้นการประหารชีวิตมานานถึง 9 ปี

ส่วน พันตำรวจโท บรรยิน ตั้งภากรณ์ คือ นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต คนล่าสุด เป็นจำเลยในคดี ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

หลังจากที่มีคำพิพากษาประหารชีวิต กลายสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต ทั้งนี้ นักโทษเด็ดขาด มีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะได้รับพระราชทานอภัยโทษกันทุกคน

สำหรับการประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง