อนุ นบข. ชงจ่ายเงินช่วยชาวนาเป็นไร่ละ 500 บาทไม่เกิน 20ไร่ โดยยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง

View icon 323
วันที่ 20 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กระทรวงเกษตรฯ ดันทุกโครงการช่วยชาวนา เตรียมเสนอ นบข.จ่ายค่าเก็บเกี่ยวข้าวไร่ละ500บาท พร้อมโครงการสินเชื่อและเงินชดเชยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก แก้ปัญหาข้าวล้นตลาดช่วงเดือน พ.ย.และ ธ.ค.นี้ และลดความผันผวนด้านราคา

วันนี้ (20พ.ย.67) นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยผลประชุมของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567 โดยมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน  หลังคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ชุดใหญ่ ขอให้กระทรวงเกษตรฯทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง กรอบวงเงิน 29,980 ล้านบาท เนื่องจากเกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ และปัจจุบันล่วงเลยระยะเวลาการสนับสนุนปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย) ไปแล้ว อีกทั้งเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวและนำผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินงานโครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน ครัวเรือนละ 20,000 บาท เป็นจำนวนมาก

ในที่สุดคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จึงมีมติให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง / โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/2568 หรือ โครงการไร่ละ 1,000 บาท และปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท โดยให้ชาวนาได้รับเงินชดเชยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลผลผลิต โดยพิจาณาตามกรอบวงเงินที่มีอยู่ คือ 29,980 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือจะเสนอ 2 โครงการคู่ขนาน คือโครงการศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าข้าว และโครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยจะนำเสนอที่ประชุม นบข. พิจารณาอนุมัติเห็นชอบภายในอาทิตย์หน้านี้ และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

673d3b49ce00b2.17623414.jpg

นางนฤมล ระบุ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเตรียมเสนอ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 วงเงิน 9,019.01 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตข้าวที่เข้าสู่ตลาดให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และลดความผันผวนด้านราคา ส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ ช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรในระหว่างรอการขายผลผลิต ให้สามารถขายข้าวในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและพอใจ คาดจะให้ครม.พิจารณา 29 พ.ย.67 ประกอบด้วย

-โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงินงบประมาณรวม 43,843.76 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 35,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,362.76 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อตามโครงการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ และวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก

-โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินงบประมาณรวม 15,656.25 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 656.25 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย หรือเพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.50 ต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง