สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 151
วันที่ 19 พ.ย. 2567
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.51 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเลี้ยงนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเปิดงานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครั้งที่ 17 ประจำปี 2567

โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้แทนสถาบันที่ร่วมจัดแสดงนิทรรศการวิชาการฯ, นักเรียนนายร้อยที่ได้รับรางวัลโครงงานวิจัยดีเด่น, ข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น, นักเรียนโรงเรียนเหล่าทัพและนักเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ชนะเลิศการแข่งขันประชันการส่งอากาศยานไร้คนขับเข้าปฏิบัติภารกิจ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเกียรติบัตร

งานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2551 เพื่อส่งเสริม พัฒนา และขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสถานศึกษา หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2567 มีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงกลาโหม รวม 32 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ 99 ผลงาน แบ่งได้ 5 ส่วน ได้แก่ ผลงานของหน่วยงานภายนอกกระทรวงกลาโหม อาทิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เสนอเรื่อง จุดเริ่มต้นและความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3, โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เสนอโครงการวิจัย "พลังสถานศึกษา ร่วมมือ พัฒนา ยุติปัญหาความรุนแรง", มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เสนอเรื่อง การพัฒนาชุดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกจากสาหร่ายและผำ, หน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม อาทิ ผ้าห่มหล่อเย็นลดอุณหภูมิจากโรคลมร้อนเพื่อใช้งานทางทหาร ของกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม, การออกแบบสร้างเครื่องป้องกันฝูงโดรนด้วยคลื่นไมโครเวฟกำลังงานสูง ของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก, ผลงานจากโครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับหน่วยงานภายนอก อาทิ การศึกษาระบบการจัดการน้ำของกรุงศรีอยุธยาด้วยวิธีทางภูมิสารสนเทศร่วมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี, ผลงานของอาจารย์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อาทิ การสร้างและพัฒนาเครื่องยิงลูกระเบิดจำลองเปรียบเทียบกับเครื่องยิงลูกระเบิดจำลองที่มีใช้ในกองทัพบกไทย และผลงานของนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 3 กลุ่มวิชา อาทิ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์และการทหาร แสดงการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ด้วยอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก, กลุ่มวิทยาศาสตร์และการทหาร แสดงการสร้างแบบจำลองคลังอาวุธในการควบคุมและตรวจสอบ, และกลุ่มสังคมศาสตร์และการทหาร นำเสนอการพัฒนาคู่มือของนายทหารใหม่สำหรับช่วยเหลือพลทหารในรูปแบบแอปพลิเคชัน
  
งานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นงานสำคัญช่วยให้การจัดการศึกษาของโรงเรียนฯ ได้มาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วไป และเป็นโอกาสดีที่คณาจารย์และนักเรียนนายร้อย จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ประยุกต์ใช้ความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ  ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน กองทัพบก และประเทศชาติสืบไป

เวลา 15.04 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ "การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงของโลก" ซึ่งโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา, คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เปิดโอกาสให้นักวิจัย และนักศึกษาได้แสดงผลงานวิจัยและสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน

โอกาสนี้ ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ภารกิจของมูลนิธิชัยพัฒนา ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงกล่าวถึง การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน แต่ยังต้องคำนึงถึงความต้องการของคนในอนาคต  ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ การดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความสำคัญแก่ผู้คนในสังคม มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีแนวทางการพัฒนาแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงทุกด้านของการพัฒนาเข้าด้วยกันอย่างสมดุล ทั้งโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทรงยกตัวอย่างโครงการ เช่น โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี มุ่งเน้นการบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะโดยใช้วิธีการทางธรรมชาติ, โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดคามีเลียและน้ำมันพืชอื่น จังหวัดเชียงราย ให้ความสำคัญกับการปลูกป่า โดยปลายทางได้ผลิตน้ำมันเมล็ดคามีเลียที่มีคุณภาพต่อการบริโภค, โครงการด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ สนับสนุนให้ชุมชนปลูกผักปลอดภัยเพื่อการบริโภค, โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่เป็นหลักในการจัดการทรัพยากรเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด, สำหรับโครงการด้านการช่วยเหลือสังคมและชุมชน เช่น โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม และโครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว ส่งเสริมการอนุรักษ์วิถีชีวิตของชุมชนแบบดั้งเดิม เพื่อมิให้สูญสลาย, รวมทั้งโครงการด้านพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น โครงการภัทรพัฒน์ เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค สร้างช่องทางการตลาดแก่เกษตรกร และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่โครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนานำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต"

การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2567 มีวิทยากรพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนองค์กรชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีให้นักวิจัยและนักศึกษาได้แสดงผลงานวิจัยและสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการปรับตัวของทรัพยากรธรรมชาติ, การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติและมลพิษทางธรรมชาติ, มาตรการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์และการปรับตัวตามสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง