วัยทำงานหนี้สินอื้อ ค่าครองชีพสูง ส่งผลไม่อยากมีลูก

View icon 105
วันที่ 19 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หอการค้าพบคนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน วัยทำงานหนี้สินอื้อ รายได้ไม่พอรายจ่าย ส่งผลไม่อยากมีลูก เด็กเกิดใหม่ลดฮวบ สสส.หนุนแก้ 4 มิติ ช่วยคนวัยทำงานมีคุณภาพชีวิตดี สร้างสังคมเอื้อมีบุตร

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน จัดเวทีประชุมสนทนาเชิงนโยบาย ขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว สนับสนุนครอบครัวซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศ ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการดำเนินนโยบาย อาทิ การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี 600 บาท/เดือน/คน ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย การปรับกฎหมายเพื่อให้สิทธิวันลาคลอดมารดา สูงสุด 98 วัน สิทธิประโยชน์เรื่องการมีบุตรของประกันสังคม การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก อีกทั้ง ยังมีภาคเอกชนร่วมส่งเสริมให้มีนโยบายการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ เช่น อนุญาตให้พนักงานลาคลอดได้ถึง 6 เดือน การปรับเวลาการทำงานของพ่อแม่ให้มีความยืดหยุ่นในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายครอบครัว

น.ส.วรวรรณ กล่าวต่อว่า จากการประเมินในระดับนานาชาติในรายงาน Women, Business and the Law 2020 พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนด้านความเป็นพ่อแม่ ต่ำที่สุด ซึ่งได้คะแนนเพียง 20 คะแนนจาก 100 คะแนน เนื่องจากกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร/สนับสนุนพ่อแม่ให้มีเวลาได้อยู่กับบุตร ประกอบกับระบบสนับสนุนต่างๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่ยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอ

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย จากเกิดใหม่ปีละหลักล้านคน เหลือเพียงปีละ 5 แสนคน ส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวยากจน กระทบต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก ที่ผ่านมาพบข้อสังเกตสำคัญว่า การออกแบบสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัวควรต้องคำนึงถึงสภาพปัญหาที่พนักงานเผชิญด้วย โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความเข้มแข็งของครอบครัวและการตัดสินใจมีบุตร

จากผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบคนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 65 สูงถึง 47,000 บาท สาเหตุจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย 14% ค่าครองชีพสูงขึ้น 12% ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 11.2% สสส. จึงร่วมกับ สศช. พัฒนานโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและดูแลบุตรของพนักงาน/ลูกจ้าง ผ่าน 4 มิติ ดังนี้

1.เวลา ส่งเสริมให้เกิดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นสำหรับพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก เพิ่มสิทธิการลาเพื่อดูแลบุตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้ พนักงานชายสามารถลาเพื่อดูแลครอบครัวได้
2.การเงิน ศึกษาความเป็นไปได้ของการให้เงินอุดหนุนค่าคลอดบุตร และการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดรายเดือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่มือใหม่
3.ระบบสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร พัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยา
4.กฎหมาย ผลักดันกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างครอบครัวสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกฎหมายที่อนุญาตให้ครอบครัว LGBTQ+ สามารถจดทะเบียนสมรสและรับอุปการะบุตรได้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญ และการกำหนดให้การมีบุตรยากเป็นโรคและสามารถใช้สิทธิรักษาได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง