สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการเกี่ยวข้าว ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

View icon 186
วันที่ 15 พ.ย. 2567
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 13.26 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงสาธิตการเกษตรที่ 5 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริด้านการเกษตรในพื้นที่ ได้แก่ กรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี นำเทคโนโลยีการทำนาแบบลดโลกร้อนมาใช้ในแปลงนาสาธิต เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นการปลูกข้าวด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง พร้อมติดตั้งแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเพื่อดูระดับน้ำ เกิดความสะดวก ง่ายต่อการควบคุม และยังส่งเสริมให้ใช้วิธีไถกลบตอซังข้าว และใช้จุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายฟางแทนการเผา เพื่อสร้างระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน, กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก ได้รับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 87 จำนวน 1,000 กิโลกรัม นำไปกระจายแก่กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ 10 ราย ในตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก เพื่อขยายสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด หลังเก็บเกี่ยวเมื่อเดือนกันยายน ให้ผลผลิตกว่า 14,000 กิโลกรัม, การบริหารจัดการน้ำในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และการกระจายน้ำในพื้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และพื้นที่โดยรอบ กรมชลประทาน มีแผนปรับปรุงขุดขยายสระเก็บน้ำสวนผลไม้ภาคใต้ ในปี 2569 พร้อมติดตั้งวัสดุป้องกันการรั่วซึมด้วยแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ และจะขุดลอกแก้มลิงวัดพระฉาย 2 ให้ได้ความจุ 80,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 1 แห่ง เพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน พร้อมติดตั้งสถานีตรวจวัดอุทกวิทยาสำหรับอ่างเก็บน้ำ 14 สถานี ติดตั้งระบบกระจายน้ำของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อเก็บข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ

จากนั้น ทอดพระเนตรการเกี่ยวข้าวในแปลงสาธิตการเกษตร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นข้าวพันธุ์ กข 97 หอมรังสิต เป็นข้าวเจ้า มีลักษณะนุ่ม กลิ่นหอม ไม่ไวต่อแสง ปลูกได้ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 106 วัน ใช้วิธีหว่านน้ำตม ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 737 กิโลกรัม/ไร่ ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนการปรับปรุงบำรุงดินจากกรมพัฒนาที่ดิน โดยใช้ดินและปุ๋ยร่วมกับเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตและปริมาณผลผลิต ตั้งแต่การเตรียมดิน ระยะข้าวแตกกอ และระยะข้าวตั้งท้อง มีการเจริญเติบโตดี การระบาดของโรคพืชลดลง

นอกจากนี้ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ดำเนินโครงการสวนผลไม้ภาคใต้ตามพระราชดำริฯ คู่ขนานกับการปลูกข้าว ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2567 ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร มอบต้นกล้าทุเรียน 38 ต้น 22 สายพันธุ์ พร้อมอุปกรณ์ในการดูแลบำรุงต้นทุเรียน ส่วนกรมทรัพยากรน้ำ ติดตั้งโรงสูบน้ำและถังเก็บน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนระบบกระจายน้ำในโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งยังจัดกิจกรรมเพิ่มประสบการณ์ ส่งเสริมการเกษตรแก่นักเรียนนายร้อย ภายใต้ชมรมโครงการตามแนวพระราชดำริฯ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นการส่งเสริมความรู้ ฝึกทักษะด้านการปลูกผักสวนครัว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถต่อยอดช่วยเหลือประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้

ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการการเกษตร อาทิ กรมวิชาการเกษตรนำเสนอสายพันธุ์ "กระเจี๊ยบเขียว กวก. กาญจนบุรี 1" ได้รับรองเป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก เป็นฝักตรง ห้าเหลี่ยม ขนนุ่ม สีเขียวสม่ำเสมอทั้งฝัก คุณภาพฝักได้ตามมาตรฐานการส่งออกและตลาดภายในประเทศ เป็นการลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้า, กรมประมง ดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืดไทย ซึ่งในปี 2567 ได้มอบพันธุ์ปลาน้ำจืดไทยแก่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก, ชุมชนประมง และประชาชน รวมถึงปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อสนองพระราชประสงค์ในการฟื้นฟูทรัพยากรปลาน้ำจืดของไทย เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นแหล่งโปรตีนแก่ประชาชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร

โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนวัดโยธีราษฎร์ศรัทธาราม ซึ่งน้อมนำพระราชดำริมาจัดทำโครงการ "ดินดี ผักดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข" ทำการเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาประกอบอาหารกลางวัน อาทิ เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี, ปลูกผัก เป็นกิจกรรมต่อเนื่องของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน บูรณาการเข้ากับวิชาเรียนและขยายผลสู่ชุมชน ทั้งนี้ จังหวัดนครนายก ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มยุวเกษตรกรของสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เยาวชนเกิดความภาคภูมิใจ มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น ใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบในพื้นที่ เช่น งานศิลปะท้องถิ่น อาหารสด อาหารแห้ง มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นที่รู้จัก อาทิ ขนมเปี๊ยะและขนมกุยช่ายบ้านนา ไข่เค็มมะดัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง