จับ 2 ผู้ต้องหา นำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี รัฐเสียหายกว่า 98 ล้านบาท

View icon 135
วันที่ 13 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ดีเอสไอ จับ 2 ผู้ต้องหา นำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี รวม 34 คัน ทำรัฐเสียหายกว่า 98 ล้านบาท ทั้งคู่ให้การปฏิเสธ

วันนี้ (13 พ.ย.67) นายวิทวัส สุคันธรส ผอ.ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ได้รายงานผลการจับกุมผู้ต้องหาคดีนำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษีได้จำนวน 2 ราย โดยรายแรกชุดปฏิบัติการที่ 1 ได้จับกุมน.ส.ฉันทิศา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2028/2565 ลงวันที่ 21 ก.ย.65 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ เจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 12 พ.ย. บริเวณริมถนนรักสุขภาพ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 91/2565 ของสำนักงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ซึ่งผู้ต้องหามีพฤติการณ์ร่วมกับบริษัทเอกชน กับพวกรวม 4 คน กระทำความผิดนำรถยนต์นั่งใหม่สำเร็จรูป 6 คัน เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ภาษีอากรขาดไปเป็นเงิน 29,895,254.12 บาท

ต่อมาวันนี้ ชุดปฏิบัติการที่ 2 ได้จับกุม น.ส.ชนิดา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในฐานะผู้แทนนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ตามหมายจับศาลอาญาที่ 3820/2567 ลงวันที่ 16 ส.ค.67 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ จับกุมได้ที่บริเวณบ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงใหม่ คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 34/2565 ของสำนักงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ซึ่งผู้ต้องหาเป็นกรรมการบริษัทเอกชน ได้ร่วมกันนำรถยนต์นั่งใหม่สำเร็จรูป จำนวน 28 คัน จากสหราชอาณาจักรเข้ามาในประเทศไทย ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ภาษีอากรขาดไปเป็นจำนวนเงิน 68,405,860.91 บาท                        
             
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งการจับกุมเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงแจ้งว่าต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัวจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้ผู้ต้องหาได้รับทราบแล้ว รวมทั้งแจ้งพนักงานอัยการรวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว (ปท.1) ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ขณะจับกุม จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป