ชาวนาเฮ! มีน้ำทำนาปรังกว่า 10 ล้านไร่

View icon 75
วันที่ 13 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“นฤมล” ลั่น บริหารจัดการน้ำเพียงพอตลอดช่วงแล้งนี้  มีปริมาณน้ำทำนาปรังทั่วประเทศ 10.02 ล้านไร่ เพิ่มจากปีที่แล้ว 1.2 ล้านไร่ ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

วันนี้ (13 พ.ย.67) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แถลง “แผนจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 67/68”  โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อการเพาะปลูก ปี 2567/2568 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567-30 เมษายน 2568 ภาพรวมทั้งประเทศ โดยบริหารจัดการจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก รวมทั้งสิ้น 44,250 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล 1 พ.ย. 67) พบว่าปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3,863 ล้าน ลบ.ม. และจากปริมาณน้ำดังกล่าวทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกได้อีก 1.2 ล้านไร่ รวมแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 10.02 ล้านไร่ ซึ่งวางแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 29,170 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 15,080 ล้าน ลบ.ม. สำหรับ 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) เพื่ออุปโภค-บริโภค 3,050 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10% จากแผนฯ 2) รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 8,765 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% จากแผนฯ3) เพื่อเกษตรกรรม 16,555 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57%จากแผนฯ และ 4) เพื่ออุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 3% จากแผนฯ

ขณะนี้ได้จัดสรรน้ำไปแล้ว (ตั้งแต่ 1 พ.ย.67 – 12 พ.ย. 67) 991 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 4% จากแผนฯ คงเหลือที่ต้องจัดสรรอีก 28,179 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น96% จากแผนฯ) ปัจจุบัน (ข้อมูล 12 พ.ย. 67) มีปริมาณน้ำเก็บกัก 63,908 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 39,922 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า 1 พ.ค. 68 จะมีปริมาณน้ำเก็บกัก 44,032 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 20,489 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะบริหารจัดการเพื่อการเกษตรจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้

“จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในบางพื้นที่เกษตรกรสามารถทำนาปรังต่อเนื่องจากนาปีได้ ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 67 ไปแล้วกว่า 0.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.55 ล้านไร่ โดยใช้ประโยชน์จากน้ำช่วงน้ำหลากในการเพาะปลูก ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จก่อนแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การปรับปฏิทินการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีถัดไป” นางนฤมล กล่าว

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ นางนฤมล ได้กำชับให้การบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่สอดคล้องกับสถานการณ์  เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสนับสนุนทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ แม้ในปีนี้จะเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังบริหารจัดการกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก และวางแผนจัดสรรสำหรับเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ