แฉ! ขบวนการนายหน้าหลอกชาวเมียนมา ทำบัตรประชาชนฟื้น หลัง ครม.มีมติให้สัญชาติไทยร่วม 4 แสนคน

View icon 62
วันที่ 6 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
แฉ! ขบวนการนายหน้าหลอกชาวเมียนมา ทำบัตรประชาชนฟื้น หลังครม.มีมติให้สัญชาติไทยร่วม 4 แสนคน

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 67 ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า ชาวเมียนมาในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งในฝั่งประเทศไทย และฝั่งประเทศเมียนมา เริ่มเคลื่อนไหว และตื่นตัวในกรณีข่าวที่ทางกระทรวงมหาดไทย จะให้สัญชาติไทยคนต่างด้าว ประมาณ 4.8 แสนรายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมติดังกล่าวทำให้ชาวเมียนมาเข้าใจว่า ทางรัฐบาลไทยจะให้สัญชาติไทยแก่บุคคลต่างด้าว จึงมีขบวนการนายหน้าเริ่มผุดขึ้น และหลอกเอาเงินชาวเมียนมาด้วยกันแล้ว เพื่ออ้างว่า จะไปวิ่งทำบัตรประชาชนให้ ทำให้บางคนหลงเชื่อจ่ายเงินไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางด้านเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในขณะไปดูความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ที่ อ.แม่สอดว่า มีคนต่างด้าวจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าจะให้สัญชาติคนต่างด้าวทั้งหมด จริงๆกลุ่มที่พิจารณาเร่งรัดให้สัญชาตินั้นเป็นกลุ่มเก่าๆ ที่อยู่มานาน ไม่ใช่คนกลุ่มหลังๆที่เข้ามา ตามมติครม.วันที่ 29 ต.ค. 2567 ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการออกกฎกระทรวงในรายละเอียดภายใน 60 วัน โดยจะเป็นแนวปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ ที่จะเปิดรับคำร้อง หากหลักฐานพร้อมใช้เวลาเพียง 5 วัน เพราะขณะนี้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนต่างด้าวจำนวนมากเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า มีการให้สัญชาติไทยทั้งหมด ซึ่งจริงๆแล้วคือคนกลุ่มที่ดังกล่าวมีจำนวนมาก ยังไม่ได้สัญชาติไทย แต่ต้องผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้ถิ่นที่อยู่อาศัยชัดเจน หรือหนังสือสำคัญบุคคลต่างด้าวก่อน หลังจากนั้นอีก 5 ปีจึงจะขอสัญชาติ ซึ่งต้องผ่านกระทวนการตรวจสอบอีกมากมาย

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า พบว่า เริ่มมีการแตกตื่น รับผลประโยชน์กันแล้วโดยชักชวนคนต่างชาติไปยื่นคำร้อง อ้างว่าจะนำไปทำเรื่องให้สัญชาติไทย ซึ่งตนเองได้พบกับนายสัญญา เพชรเศษ นายอำเภอแม่สอด และทราบว่า ได้สั่งกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้เข้มงวดเรื่องนี้เป็นพิเศษ  อย่างไรก็ดีไม่ง่ายสำหรับคนที่ไปสวมสิทธิ์ เพราะว่าความทันสมัยของเทคโนโลยี ในระบบข้อมูลทางทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยแล้ว

สำหรับกลุ่มคนที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการให้สัญชาติไทยมีชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน มากกว่า 20 ปี จำนวน 19 กลุ่ม ในจำนวนนี้ เป็นบุคคลบนพื้นที่สูง และชุมชนบนพื้นที่สูง ประมาณ 124,000 ราย รวมถึงผู้ที่ตกหล่นจากการสำรวจในอดีตประชากร ประมาณ 215,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของชนกลุ่มน้อย 29,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของบุคคลที่ไม่มีสถานะตามทะเบียนประมาณ 113,000 คน