ครอบครัวถูกหลอกจองห้องพัก

View icon 116
วันที่ 5 พ.ย. 2567
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หลายคนต่างจับจองที่พัก เเต่ปรากฎว่ามีผู้เสียหายคนหนึ่ง ถูกเอเจนซี่ในเพจเฟซบุ๊กหลอกโอนเงินจองห้องพักเกือบ 20,000 บาท เเต่กลับไม่ได้ที่พักจริง

ครอบครัวถูกหลอกจองห้องพัก
นางสาวกรองแก้ว จุ่นสำราญ อายุ 37 ปี เจ้าของธุรกิจขายอาหารทะเลแห้งชื่อดังของ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมครอบครัวร้องเรียน หลังจากโอนเงินค่าเช่าที่พักจากเพจพูลวิลล่าแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 16,000 บาท แต่หลังจากนั้น ไม่สามารถติดต่อกับทางเพจฯ ได้ทุกช่องทาง เเละเมื่อเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา แต่กลับถูกทางร้อยเวรแนะนำให้กลับไปแจ้งความที่บ้านเกิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงรู้สึกสงสัยในการทำงานของตำรวจ

ด้าน พันตำรวจเอก นาวิน ธีระวิทย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เรื่องนี้ได้มีการสอบถามกับทางร้อยเวรที่รับเรื่องในวันนั้น ทราบว่าทางผู้เสียหายได้มาทำธุระที่อำเภอศรีราชา และผู้เสียหายได้ติดต่อกับเพจเฟซบุ๊ก เพื่อจะเข้าพักในเมืองพัทยา โดยมีการโอนเงินให้ในระหว่างเดินทาง

พอถึงที่พัก ทางผู้ดูแลหรือเจ้าของวิลล่ากลับไม่ทราบเรื่อง จึงทำการตรวจสอบเเละทราบว่า เพจเฟซบุ๊กที่ผู้เสียหายติดต่อและโอนเงินเป็นเพจฯ ปลอม ผู้เสียหายจึงเดินทางมาเเจ้งความ เเละเตรียมดำเนินคดีฐานฉ้อโกงออนไลน์ เเละเเนะนำให้ผู้เสียหายไปเเจ้งความในพื้นที่ใกล้บ้าน เพราะการฉ้อโกงออนไลน์ สามารถเเจ้งความได้ทุกสถานี เพื่อสะดวกต่อการเข้าให้้ข้อมูล

ส่วนวิธีเช็กเพจปลอมของมิจฉาชีพ 

1. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจฯ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจฯ มาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจฯ อยู่ในประเทศใด

2. ตรวจสอบรายละเอียดผู้ติดตาม เช่นเพจฯ ปลอมอาจปิดการมองเห็นยอดผู้ติดตาม หรือมีการสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ที่รายละเอียดของเพจฯ ซึ่งคล้ายกับจำนวนผู้ติดตามของจริง

3. สังเกตชื่อเพจฯ สะกดถูกต้องหรือไม่เพราะมิจฉาชีพอาจใส่จุดหรืออักขระพิเศษ เพื่อเลียนแบบเพจฯ จริง

4. สังเกตการณ์โพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจฯ รวมถึงการรีวิวที่พักจากผู้พักจริง เช่น มีการกดโกรธในโพสต์ต่าง ๆ ให้สงสัยได้เลยว่าเป็นเพจฯ ปลอม

5. ก่อนโอนเงินจองให้ดูชื่อบัญชีที่โอนว่าตรงกับชื่อเจ้าของที่พักหรือเป็นบัญชีชื่อของที่พักนั้นหรือไม่ และดำเนินคดีตามกฎหมายกับมิจฉาชีพ

ยายทุกข์ใจ! ถูกเเก๊งคอลเซนเตอร์หลอกหมดตัว
ที่จังหวัดชัยภูมิ คุณยาย อายุ 80 ปี มีอาชีพปลูกต้นดอกมะลิขาย หาเลี้ยงลูกสาวพิการทางสมอง ถูกเเก๊งคอลเซนเตอร์หลอกโอนเงิน 150,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บสะสมไว้ทั้งชีวิต จนต้องไปเเจ้งความดำเนินคดีสถานีตำรวจภูธรเมืองชัยภูมิ

คุณยาย เล่าว่า เมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคมที่ผ่านมา มีเเก๊งคอลเซ็นเตอร์ 3 คน อ้างตัวเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติดในจังหวัดนครราชสีมา โทรมาข่มขู่ว่า "รับพัสดุของกลุ่มค้ายาเสพติด" คุณยายก็ตกใจ เเก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงบอกให้ถอนเงินในบัญชี โอนเงินส่งมาให้ทางการ เพื่อเป็นค่าประกันตัว

ด้วยความกลัวว่าจะมีความผิด คุณยายจึงเรียกรถสามล้อรับจ้าง ไปโอนเงินที่ร้านสะดวกซื้อเเห่งหนึ่งในตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเงินจากการขายดอกมะลิ เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ เงินช่วยเหลือผู้พิการของลูกสาว เเละเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 10,000 บาท ที่เพิ่งได้รับไป

โดยไปโอนให้ 4 ครั้ง ในเวลา 3 วัน จำนวน 150,000 บาท จนเงินหมดบัญชี เเต่เเทนที่เเก๊งคอลเซนเตอร์จะรู้จักคำว่า พอกลับบอกให้คุณยายไปขายที่ดิน เเล้วโอนเงินมากอีก รอบนี้คุณยายไม่ทำตาม จนเเก๊งคอลเซนเตอร์ดุด่าสารพัดสุดท้าย คุณยายกินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดจะฆ่าตัวตาย จนกลุ่ม อสม.มาเจอ เเละพาไปเเจ้งความ

ด้าน พันตำรวจเอก ประสิทธิ์ เปรมกมล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองชัยภูมิ กล่าวถึงความคืบหน้าของคดี หลังรับแจ้งความ ได้ส่งเรื่องให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารไว้ตรวจสอบแล้ว พร้อมออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีม้ามาพบพนักงานงานสอบสวน หาก 2 ครั้ง ไม่มาพบจะออกหมายจับต่อไป

พร้อมฝากเตือนไปยังประชาชน ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ทางราชการจะไม่มีการโทรศัพท์ไปตรวจสอบใคร หากใครโทรมาให้คิดเสมอว่า เป็นมิจฉาชีพ