MOU44 คือกลไกที่ดีที่สุด

View icon 35
วันที่ 5 พ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ภูมิธรรม มอง MOU44 คือกลไกที่ดีที่สุด ก่อนย้อนกลุ่มการเมือง พปชร.ไปถาม หัวหน้าพรรคตัวเอง เพราะเป็นคนนำเจรจาในปี 57 ยันไม่เคยยกเลิกในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้ำรัฐบาลจะรักษาดินแดน-ผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไว้เท่าชีวิต

วันนี้ (5 พ.ย.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง การนำรายชื่อ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งโดยทั่วไปคนที่เป็นประธานคณะกรรมการ JTC จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โดยมีองค์ประกอบเป็นกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการคลังการ, กระทรวงพลังงาน และมีตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กรมเอเชีย และคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่คณะกรรมการชุดใหม่ ตนยังไม่ทราบว่าใครเป็นประธาน

ส่วนที่เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรี  ระบุว่าหากยกเลิก MOU44 จะทำให้ไทยเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรม อธิบายว่า เรื่อง MOU44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพื้นที่เสียมราฐ, พระตะบอง และสีโสภณ แต่ได้ยกชายฝั่งด้านจังหวัดตราด และเกาะต่าง ๆ ให้ไทย ดังนั้นตามสนธิสัญญานี้ ตอนหลังก็กลายมาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกัมพูชา ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยการเปลี่ยนแปลง และกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ ดังนั้นประเด็นที่จะยกเกาะกูดให้ไม่เป็นเรื่องจริง และไม่เกี่ยวกับ MOU ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศแล้วว่า จะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป จะรักษาไว้เท่าชีวิต ขณะที่เกาะกูดก็มีส่วนราชการอยู่ที่นั่น และมีกองทัพเรือซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเส้นเขตแดนก็อยู่ จึงขอให้ยุติเรื่องนี้ เพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ส่วน MOU เกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ปี 2515 ทางกัมพูชาประกาศมาใกล้เขตแดนเรา ต่อมาปี 2516 ไทยก็ประกาศไปใกล้เขตแดนของกัมพูชา จึงทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ ก็ต้องมีการทำMOU ขึ้นมาเพื่อเจรจาว่า การแบ่งเขตดินแดนในทะเลของใคร หากเข้าใจเรื่องนี้ก็จะไม่สับสน และเที่ยวตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้นเรื่องMOU44 เป็นเรื่องของไทย และกัมพูชาต่างต้องเจรจากัน ถ้าเราจะยกเลิกอันนี้ แปลว่าเราไม่รักษาสิทธิ ในเขตแดนเรา เพราะต่างคนต่างประกาศ และกฎหมายทางทะเล ระบุว่า ผลประโยชน์ส่วนนี้มาเจรจากัน อะไรก็ตามถ้าจะแบ่งกัน ต้องคำนึงถึงเส้นเขตแดน ที่เป็นดินแดนของแต่ละฝ่าย ดังนั้นไม่มีเหตุอะไรที่จะไปยกเลิก ซึ่งสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศก็เคยเสนอ  ให้รัฐบาลพิจารณา MOU44 แต่ตอนนั้นก็มีแรงกดดันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องประสาทเขาพระวิหาร และเรื่องชายแดน โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ได้รับหลักการ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ทำเรื่องเสนอความเห็นจากสภาความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่า MOU เป็นกลไกที่ดีที่สุด ดังนั้นกระแสข่าวว่า ถูกยกเลิกในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่เป็นความจริง และต่อมาในปี 2557 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา ก็ดำเนินการต่อ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ไปเจรจา ดังนั้นพรรคการเมืองหรือส่วนไหนที่มาพูดเรื่องนี้ ต้องกลับไปดูประวัติประวัติศาสตร์ ดูสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส และขออย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และเมื่อวานกรมสนธิสัญญาก็ได้ยืนยันแล้ว ถ้าถามว่าอะไรนอกเหนือจากกรอบนี้ตนคิดว่าต้องไปหาคำตอบกันเอง รัฐบาลก็ยืนยันในสิ่งที่เกิดขึ้น และประเด็นนี้ตนจะไม่ตอบคำถามอีกแล้ว

เมื่อถามว่า มองประเด็นจากกลุ่มการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากในปี 2557 พลเอกประวิตร ก็เป็นผู้ไปเจรจาเรื่องนี้  นายภูมิธรรม ถึงกับเอ่ยว่า “นั่นนะสิ” พร้อมกล่าวว่า กลุ่มการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ต้องกลับไปดู เพราะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็เป็นตัวแทนไปเจรจาเรื่องนี้ ตามกรอบทั้งหมดเหมือนกัน ตนคิดว่าก็ไม่ต้องถามแล้ว ถ้าถามแบบนี้พลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง ว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา

เมื่อถามว่าเป็นเพราะความสัมพันธ์ของนายทักษิณ กับกัมพูชา ทำให้เรื่องนี้เกิดเป็นประเด็น และถูกนำมาโจมตี นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีจะเป็นประเด็นไหน ต้องไปถามจากคนที่โจมตี ตนคิดว่าต้อง ยืนยันบนข้อเท็จจริงต่อไปก็เหมือนไปขยายความความขัดแย้ง เรื่อง MOU44 เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่ใช่ความขัดแย้งภายใน พร้อมยืนยันต่อว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน ดังนั้นถามไปก็เท่ากับทำให้ภายในแตกแยก แล้วกระทบถึงความสัมพันธ์ จึงขอให้สื่อมวลชนเข้าใจ ถ้ามีประเด็นนอกเหนือจากนี้ก็ไม่ต้องสนใจ ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงดีกว่า วันนี้ขอดูว่าจะต่อรองได้อย่างไร ผลประโยชน์ทางทะเลที่จะแบ่งกันอย่างไร เรื่องนี้ถูกจุดขึ้นมาโดยยังไม่มีข้อดำเนินการอะไรเลย เพียงแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ พร้อมยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ต้องรักษาผลประโยชน์ทางทะเล โดยใช้กฎหมายทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศดำเนินการ