ดีเอสไอส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. คดีฟาร์มหมู 200 ไร่ ป่าแม่แตง

View icon 80
วันที่ 31 ต.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ฟาร์หมูเนื้อที่ 200 ไร่ ป่าแม่แตง เชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. อาจออกโดยมิชอบ ดีเอสไอส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. สอบ

ความคืบหน้ากรณีประชาชนร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบบริษัทเอกชน ประกอบกิจการฟาร์มสุกร ใน ต.แม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เนื้อที่กว่า 200 ไร่ สร้างความเดือดร้อนทั้งปัญหากลิ่น เสียง และการระบายน้ำเสียจากมูลสุกร ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.66 เกิดเหตุการณ์บ่อบำบัดของเสียของฟาร์มเลี้ยงสุกรแตกและทรุดตัว ทำให้น้ำเสียทะลักลงลำรางสาธารณะและอ่างเก็บน้ำชลประทาน นอกจากนี้ ผู้ร้องเรียนเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรืออาจอยู่ในที่ดินของรัฐประเภทอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ สืบสวนพบว่า พื้นที่ฟาร์มเลี้ยงสุกร มีเนื้อที่ 203-2-96 ไร่ อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรบางส่วน และอยู่ในขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบางส่วน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เนื้อที่ประมาณ 168-1-58 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง จากการสืบสวนปรากฏพยานหลักฐานว่า พื้นที่ที่บริษัทฯ อ้างหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) เป็นของบุคคลอื่นที่บริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ด้วยตนเอง

อีกทั้งมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ดังกล่าวอาจเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีที่ดินบางแปลงเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวแนวเขตปฏิรูปที่ดิน และบางแปลงอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน แต่มีการก่นสร้าง แผ้วถางเพิ่มเติมภายในพื้นที่ ซึ่งได้มีการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของรัฐ

การกระทำของบริษัทฯ เข้าข่ายเป็นการยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ป่าและที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดิน และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ซึ่งอยู่ในอำนาจไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ในส่วนของปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประชาชน หน่วยงานในพื้นที่ได้เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างอาคารกำแพงกันดินแบบถาวร และบริษัทฯ ให้ข้อมูลว่า มีแผนในการจัดการของเสียและแผนในการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอีก จึงได้แจ้งข้อมูลไปยังกรมควบคุมมลพิษ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป