ผู้ว่าโคราช ควงทีมสาธารณสุข ดูงาน ตายดีวิถีพุทธ เตรียมแผนรับสังคมผู้สูงวัย หวังนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

View icon 143
วันที่ 30 ต.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผู้ว่าโคราช ควงทีมสาธารณสุข ดูงาน “ตายดีวิถีพุทธ” เตรียมแผนรับสังคมผู้สูงวัย หวังนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้ามาจรรโลงใจให้กับกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อสร้างความสุขและมีความพร้อมด้านจิตใจ ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปด้วยดวงใจที่เปี่ยมธรรม 

30 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ดร.คมกริช ฤทธิ์บุรี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และนายธรรมทรรศ ทองสำโรง นายอำเภอโชคชัย ลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Buddhist Hospice Care Center) วัดป่ากรรมฐานบ้านโนนสะอาด ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครรราชสีมา  เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการและวิธีการจัดการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายด้วยพุทธวิธี  ที่พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด ได้ริเริ่มขึ้น โดยหวังนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้ามาจรรโลงใจให้กับกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อสร้างความสุขและมีความพร้อมด้านจิตใจ ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปด้วยดวงใจที่เปี่ยมธรรม 

พร้อมกับได้นำเอาแนวบทกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” มาเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มนี้  ซึ่งหากได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้หลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตระหนักถึงวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องธรรมชาติแล้ว อาจเลือกที่จะเลี่ยงการรักษาด้วยการยื้อชีวิตไปวันๆ และต้องอยู่ด้วยความทรมานด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ มาเป็นการศึกษาธรรมเพื่อจรรโลงใจ ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปอย่างสงบสุข

โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้ตนและทีมงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาแนวทางการจัดการแนวคิดของการปฏิเสธการรักษาก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 และที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งนี้ ได้มีวิธีการต่างๆ ในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จผลได้เป็นอย่างดี มีผู้ป่วยระยะท้ายที่มาแสดงเจตจำนงตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 และร่วมกิจกรรมที่ศูนย์แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกคนต่างมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจอย่างมาก แม้ว่าจะปฏิเสธอาการเจ็บป่วยด้านร่างกายไม่ได้ก็ตาม แต่ด้วยการที่ได้เรียนรู้และซึมซับหลักธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้จิตใจได้คลายความวิตกกังวล และมีความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิตตามการรับรู้ด้านสภาพจิตใจ ที่ไม่ต้องไปทรมานจากการรักษาที่อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการยื้อชีวิต ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทุกคนสามารถเลือกได้โดยชอบตามหลักของกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม วิธีการที่จะทำให้แนวคิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 เป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มขึ้นในสังคมชาวโคราชต่อไปนั้น จะได้นำข้อมูลที่ได้ไปตกผลึกร่วมกัน เพื่อจะนำมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนขยายผลในสังคมต่อไปให้มากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะในยุคนี้ เป็นยุคที่เข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ  เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคร้ายแรง หมดทางรักษา และต้องเข้ารับการรักษาเป็นการยื้อชีวิต ที่ทำให้ร่างกายและจิตใจได้รับความทรมานเพิ่มมากขึ้น  และตอนนี้ หลายคนยังไม่รู้ว่ามีระเบียบกฎหมายที่ให้สิทธิแสดงเจตจำนงที่จะไม่ขอรับการรักษาที่ต้องทรมานได้  ซึ่งนอกจากจะเป็นสิทธิโดยชอบของตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังเป็นการลดภาระให้กับลูกหลานที่คงไม่มีความสุขนักเมื่อต้องเห็นญาติผู้ใหญ่ที่รัก ต้องมาถูกพันธนาการ เจาะคอ หรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์รุมเร้าเพื่อยื้อชีวิต  ซึ่งแนวทางที่ได้จะมีการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุข ศาสนา และกฎหมาย โดยคำนึงว่า แนวทางนี้ต้องเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งศูนย์ฯ แห่งนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ป่วยไม่ต้องมาทุกข์ทนทรมานทางกายมีความสุขทางใจ ญาติพี่น้องไม่ต้องทนเห็นคนที่รักต้องทรมานจากการรักษา ในขณะที่สังคมเองก็จะได้ประโยชน์ เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยเฉพาะกรณีขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักในระยะสุดท้ายที่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือ และยาที่มีคุณภาพสูง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย ดังนั้น แนวทางนี้อาจจะเป็นทางออกให้กับสังคมไทยในยุคสังคมผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง