เย้ยสังคม ! ปลัดอำเภอโผล่ทำงาน หลังหนีคดีตากใบ

View icon 2.5K
วันที่ 29 ต.ค. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - คดีสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 จนมีผู้เสียชีวิต 85 คน ที่หมดอายุความไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้จำเลย 14 คน ที่ถูกออกหมายจับ ยังไม่มีใครต้องได้รับโทษ เพราะทั้งหมดไม่มีใครมามอบตัว แต่หลังจากคดีหมดอายุความ จำเลยก็เริ่มกลับมาทำงานตามปกติ

นี่เป็นภาพการลงพื้นที่ปฏิบัติราชการของ นายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ภายหลังได้รับแจ้งว่า มีชายคลุ้มคลั่งยาเสพติดทำลายทรัพย์ และมีอาการทางจิตเวช ที่บ้านนาผักปลอด ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน ถือเป็นการมาทำงานวันแรก และปรากฎตัวครั้งแรกในรอบ 14 วัน หลังจากตกเป็น 1 ใน 14 ผู้ต้องหาคดีตากใบ และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 14 คน ก่อนที่ศาลจะอนุมัติหมายจับ ก่อนที่คดีจะหมดอายุความเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ซึ่งก่อนหน้านี้ หลังจากออกถูกออกหมายจับ นายวิษณุ ได้ยื่นใบลาราชการ ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม ระหว่างนั้นผู้บังคับบัญชาได้ยกเลิกใบลา เพราะมีหมายจับ แต่ไม่สามารถติดต่อนายวิษณุ ได้ กระทั่งเมื่อคดีสิ้นสุดอายุความเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม นายวิษณุ จึงเข้ามารายงานตัวกับทางผู้บังคับบัญชา และลงพื้นที่ปฏิบัติราชการ

ผู้สื่อข่าวเดินทางเข้าพบ นายวิษณุ ที่ห้องทำงาน ซึ่งก็พบว่ามาทำงานตามปกติ แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ บอกเพียงว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ตัวเองทำหน้าที่เป็นเพียงพลขับเท่านั้น

ด้านผู้บังคับบัญชาให้ข้อมูลว่า เรื่องการขาดราชการ ถ้ามีข้าราชการขาดงานติดต่อกัน 15 วัน ต้นสังกัดจะต้องรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสอบข้อเท็จจริง ซึ่งตามระเบียบ หากขาดงานเกิน 15 วัน ผู้บังคับบัญชาสามารถให้ออกจากงานได้ โดยไม่ต้องสอบวินัย แต่ถ้าขาดราชการไม่ถึง 15 วัน ผู้บังคับบัญชาจะต้องเสนอให้มีการสอบข้อเท็จจริง ถ้ามีความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ก็จะมีโทษ คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน และลดเงินเดือน

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า นายวิษณุ ได้แจ้งลาช่วงวันที่ 16-18 ตุลาคม 2567 โดยระบุว่าลาพักผ่อน ภายหลังได้รับหมายจากตำรวจ นายอำเภอท่าอุเทนได้ยกเลิกใบลา และสั่งให้นายวิษณุ เข้ารายงานตัว แต่เจ้าตัวไม่ได้มารายงานตัวและลาเพิ่มเติม ทำให้ขาดราชการ 6 วัน แต่ยังไม่ถือว่าขัดระเบียบ เพราะตามระเบียบให้ลาได้ 15 วัน จึงจะไล่ออกได้ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าในเมื่อในอำเภอเรียกตัวแล้วเหตุใดจึงไม่มารายงานตัว ซึ่งเราต้องฟังเขาก่อน ส่วนบทลงโทษต้องเป็นไปตามระเบียบ

ส่วนกรณีตั้งกรรมการสอบปลัดอำเภอท่าอุเทน ล่าสุด นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะรักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานแล้วว่า นายวิษณุ กลับมาทำงาน ซึ่งในทางปฎิบัติ แม้จะสิ้นสุดอายุความ แต่ต้องมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นทราบว่ามีการยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชา ก่อนจะถูกยกเลิกใบลา และสั่งให้มารายงานตัว

หลังจากนี้ต้องดูว่าการกระทำของนายวิษณุ มีความผิดแค่ไหน ก่อนจะตั้งกรรมการสอบวินัยอีกครั้งหนึ่ง หากมีการสอบวินัยร้ายแรง โทษสูงสุดถึงขั้นไล่ออก หรือปลดออก แต่หากผิดวินัยไม่ร้ายแรง จะมีโทษเบาลง เช่น ลดขั้นเงินเดือน ว่ากล่าวตักเตือน หรือตัดเงินเดือน