สปสช. สั่งตั้งคณะทำงานถกด่วนหาทางออก รพ.มงกุฎวัฒนะ

View icon 96
วันที่ 28 ต.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สปสช. สั่งตั้งคณะทำงานถกด่วนหาทางออก รพ.มงกุฎวัฒนะ พร้อมหารือข้อเสนอหมอเหรียญทอง ขอขยายโควตาประชากรดูแลเป็น 2.5 แสนคน ขอรับงบเหมาจ่ายรายหัว ดึงคลินิกร่วมเป็นเครือข่ายบริการ

ความคืบหน้ากรณี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ  รพ.มงกุฏวัฒนะ ประกาศงดรับผู้ป่วยบัตรทองส่งต่อจากคลินิก เนื่องจาก สปสช.เบี้ยวหนี้ 20 ล้านบาท วันนี้ (28 ต.ค.67) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวาระการหารือกรณีของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดย นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการ สปสช. ลงวันที่ 26 ต.ค.67 เรื่อง รพ.มงกุฎวัฒนะขาดสภาพคล่องไม่สามารถรับส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 โดยขอให้ สปสช. แก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดกับ รพ.มงกุฎวัฒนะภายหลังการปรับแนวทางการบริหารจัดการระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม.

เบื้องต้นเท่าที่ดูข้อมูลตามที่ รพ.มงกุฎวัฒนะได้หารือมานี้ มองว่าเป็นปัญหาที่สามารถพูดคุยและบริหารจัดการได้ ทั้งในส่วนของค่าบริการผู้ป่วยนอกรับส่งต่อ (OP Refer) และบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) รวมถึงการจ่ายค่าบริการตามรายการบริการ (Fee schedule :FS) ซึ่ง สปสช. มีขั้นตอนในการดำเนินการ โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่าย ที่อาจทำให้ในบางส่วนเกิดความล่าช้าต่อหน่วยบริการได้ รวมถึงประกาศหลักเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบในภายหลังขี้น    

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหานี้โดยเร็ว และไม่ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบ ในวันนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหารือร่วมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในการหาข้อยุติของปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันแล้ว ทั้งในส่วนของเบิกจ่ายชดเชย การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เป็นต้น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอขยายเพดานโควตาที่รับดูแลประชากรเครือข่ายมงกุฎวัฒนะ จากเดิมจำนวน 48,767 คน เป็น 250,000 คนนั้น ประเด็นนี้ในการดำเนินการ สปสช. จะต้องทำการแก้ไขข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไข  การขอลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำและการขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำ พ.ศ. 2564 โดยเป็นการพิจารณาของบอร์ด สปสช. และแก้ไขประกาศสำนักงานฯ เรื่องเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ รวมถึงการให้โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. สามารถให้บริการลักษณะหน่วยบริการประจำได้  

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการพิจารณาศักยภาพโรงพยาบาลในการรองรับการดูแลประชากรที่เพิ่มขึ้น และการประเมินผลกระทบที่มีต่อระบบในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการจัดระบบบริการในพื้นที่ด้วย 
      
เลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะเลือกคลินิกเป็นเครือข่าย โดย รพ.มงกุฎวัฒนะจะรับค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวแทนคลินิก และเมื่อประชาชนไปรับบริการทาง รพ.จะจ่ายตามรายการบริการนั้น   รูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นลักษณะเดียวกับโมเดลที่ 1 ซึ่ง สปสช. เขต 13 กทม. หากมีการปรับแก้ไขในส่วนนี้ คงใช้เป็นแนวทางของ รพ.เอกชนใน กทม. ทั้งหมดไม่แต่เฉพาะ รพ.มงกุฎวัฒนะ

“ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 4 พ.ย.นี้ สำนักงานฯ จะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม เพื่อแจ้งปัญหากรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อให้บอร์ดฯ รับทราบ รวมถึงหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว