ยิ่งจับยิ่งเยอะ เปิดสถิติตำรวจปราบยาเสพติดปีงบประมาณ 67 ยึดยาบ้า 1 พันล้านเม็ด ไอซ์ 2.5 หมื่น กก.
แชร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้สรุปผลการปราบปรามยาเสพติดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยตลอดปีงบประมาณที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน การป้องกันปราบปรามยาเสพติด ถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ได้ขับเคลื่อนทุกมิติอย่างจริงจังในด้านการปราบปราม ซึ่งมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยหลักในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผอ.ศอ.ปส.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. /รอง ผอ ศอ.ปส.ตร. รับผิดชอบด้านการปราบปราม พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. รับผิดชอบด้านบำบัดฟื้นฟู และ การดำเนินการตามโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด และ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. รับผิดชอบด้านการป้องกัน เช่น โครงการต่อต้านการใช้ยาเสพติดในสถานศึกษา (D.A.R.E.) โดยมี พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส.(ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ) /เลขานุการ ศอ.ปส.ตร. และ พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว รอง ผบช.ปส./ผู้ช่วยเลขานุการ ศอ.ปส.ตร. ในการขับเคลื่อน งานทั้งหมด อย่างเป็นระบบ
สำหรับมาตรการการปราบปราม มีผลผลการปฏิบัติดังนี้ มีการจับกุมกลุ่มผู้ค้า หรือผู้กระทำความผิดร้ายแรง (ข้อหาจำหน่ายและข้อหาครอบครองโดยผิดกฎหมาย) มีผลดำเนินการ 123,047 คดี เพิ่มขึ้น 46,077 คดี จากผลการดำเนินการในปี 2566 จำนวน 76,970 คดี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.86 โดยมีการตรวจยึด ยาบ้า จำนวน 1,001,134,891 เม็ด (หนึ่งพันหนึ่งล้านสามแสนสี่พันแปดร้อยเก้าสิบเอ็ดเม็ด) เพิ่มขึ้น 468,812,749 เม็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.07 จากปี 2566, ไอซ์ 25,429 กิโลกรัม มากขึ้น 22,973 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 935 จากปีก่อน
ขณะที่การจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถจับกุมได้ถึง 4,564 หมายจับ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 33.76 ส่วนการดำเนินคดีฐานความผิดข้อหาสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำความผิด ร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ได้ดำเนินคดีจำนวน 2,169 คดี สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 600 คดี ถึง 1,569 คดี ซึ่งการดำเนินคดีในฐานความผิดนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ใช้เป็นกลไกในการดำเนินการกับเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งขบวนการ
ขณะเดียวกัน ในส่วนของการสกัดกั้นปริมาณยาเสพติด ร้อยละ 75 เปรียบเทียบกับการจับกุมตรวจยึด เพื่อหยุดยั้งมิให้ยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ตอนใน และแพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยมีจุดเน้น คือ 1.ทางบก ด้วยการตรวจยึดยาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน ตามแนวชายแดน 1,521 แห่ง ใน 31 จังหวัดชายแดน และการสกัดในพื้นที่ตอนใน ด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด ทั่วประเทศ รวมถึงเส้นทางเลี่ยงต่าง ๆ 2.ทางอากาศ ในเป้าหมายท่าอากาศยานนานาชาติ ระบบการขนส่ง ทางไปรษณีย์ภัณฑ์ โลจิสติก ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่นออสเตรเลีย 3.ทางน้ำ/เรือ ทางทะเล และแม่น้ำโขง ที่สามารถนำเข้าและส่งออกยาเสพติด และ 4.พื้นที่แหล่งพักยาเสพติด ทั้งแหล่งพักตามธรรมชาติตามแนวชายแดนและคลังสินค้า อาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัย บ้านเช่า คอนโดมิเนียม ซึ่งผลการดำเนินการดังกล่าว สามารถสกัดกั้นได้ถึง ร้อยละ 97.92 ของยาเสพติดที่ทำการจับกุมหรือตรวจยึด
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 50 ของคดียาเสพติดที่มีการสืบสวน ขยายผล หรือตรวจสอบทรัพย์สิน คดียาเสพติดเปรียบเทียบกับคดีความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การดำเนินการใด ๆ ที่สามารถนำคดีที่จับกุมแล้วทุกข้อหา มาดำเนินการสืบสวนหาผู้ร่วมหรือผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การจับกุม การแจ้งข้อหาหรือการบังคับใช้กฎหมายทุกข้อหา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ผู้สมคบ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในการกระทกความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงการขยายผลตรวจสอบ ยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดทุกคดี ทั้งนี้หากเป็นการดำเนินการด้วยการแจ้งข้อกล่าวหาสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ จะนับเฉพาะคดีที่มีพยานหลักฐานเพียงพอโดยได้รับอนุมัติแจ้งข้อหาจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้ถึง ร้อยละ 66.74 บรรลุเป้าหมาย
ขณะที่มาตรการยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด มีการดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงินเฉพาะมูลฐานยาเสพติด เป้าหมาย 90 คดี สามารถดำเนินการได้ถึง 184 คดี ซึ่งดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมายถึง ร้อยละ 104.44 โดยมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการตามความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติด การยึด อายัด ทรัพย์สิน เพื่อส่งตรวจสอบ รวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท) โดยผลการดำเนินการ สามารถยึดอายัดทรัพย์สินในคดียาเสพติด เพื่อส่งตรวจสอบ ได้ 12,699,342,292 บาท คิดเป็นร้อยละ 126 เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด
นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการป้องกันยาเสพติด และมาตรการบำบัดรักษายาเสพติด มีจำนวนประชากรวัยเสี่ยงสูงได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันยาเสพติด 493,500 คน มีกลุ่มเป้าหมาย นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 - 6 ที่ผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตร D.A.R.E. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผ่านการอบรม เป็นครูตำรวจ D.A.R.E. ระหว่างเดือน ต.ค.66 – ก.ย.67 จำนวน 503,741 คน ซึ่งมีโรงเรียนมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการตำรวจประสานโรงเรียน (1 ตำรวจ 1 โรงเรียน) จำนวน 1,483 โรงเรียน (ยกเว้น สภ.สุวรรณภูมิ ภ.จว.สมุทรปราการ) โดยตำรวจประสานโรงเรียนทำหน้าที่ร่วมกับครูในโรงเรียน เพื่อดำเนินการค้นหา คัดแยกนักเรียนในโรงเรียนเป็นกลุ่มดี กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มเสพขาย และใช้มาตรการในการดำเนินการ อย่างเหมาะสมกับนักเรียนทั้ง 4 กลุ่ม โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,483 โรงเรียน ให้การสนับสนุนโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ในการป้องกันเฝ้าระวังและ แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในตำบลแพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด 100 ตำบล ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ดำเนินการในพื้นที่มีปัญหาแพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด จำนวน 100 ตำบล (Quick Win) และ โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในตำบลแพร่ระบาดยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาล (1,483 ชุมชน/หมู่บ้าน) รวมทั้ง 2 โครงการ มีผู้เข้าร่วมรับบำบัดกับโครงการฯ ทั้งสิ้น 49,302 ราย
ในภาพรวมของการปฏิบัติ มีผลการสำรวจระดับ “ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยดำเนินการภายใต้โครงการประเมินระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ (PART) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ผลการสำรวจ สามารถสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนได้ถึงร้อยละ 86.25
ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารราชการ ของ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานความร่วมมือ กับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อบูรณาการ การทำงานอย่างเป็นระบบ และสร้างการรับรู้ ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับกองบัญชาการ กองบังคับการหรือตำรวจภูธรจังหวัด และระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดคือ สถานีตำรวจ ให้ทราบถึง ปัญหาและเป้าหมายที่ต้องการ คือ การปราบปรามยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งผู้ค้ารายย่อย ผู้เสพ ลดความรุนแรงของอาชญากรรมทุกประเภท อันเกิดจากการใช้ยาเสพติด ทั้งการแก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชคลุ้มคลั่งก่อเหตุ ทั้งที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดและไม่ได้ใช้ โดยทุกประการที่กล่าวมานั้น เป็นเป้าหมายเรื่องการลดความหวาดกลัวภัยของประชาชน ในเรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด และเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาให้กับพี่น้องประชาชน ที่มีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย