แห่ชมปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค

View icon 115
วันที่ 17 ต.ค. 2567
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ไม่ผิดหวัง ได้ชมปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค อัศจรรย์กลางแม่น้ำโขง ที่จังหวัดหนองคาย

นักท่องเที่ยวไปจับจองพื้นที่ริมแม่น้ำโขง รอชมบั้งไฟพญานาค กัน ตั้งแต่ช่วงบ่าย ช่วงเย็น เพื่อเฝ้ารอเวลาพลบค่ำ ในคืนนี้ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เป็นวันออกพรรษา บั้งไฟพญานาคลูกแรกของปีนี้ ผุดขึ้นกลางแม่น้ำโขง เมื่อเวลา 18.30 น. ที่บ้านตาลชุม อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย จำนวน 2 ลูกติดต่อกัน และในช่วงค่ำ ที่พุทธอุทธยานนานาชาติ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย บั้งไฟขึ้นแล้ว 

คืนนี้เป็นคืนที่เกิดปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" เกิดขึ้น มากที่สุด จากระดับน้ำ ในแม่น้ำโขงขึ้นสูง ตามข้างขึ้นข้างแรม ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" ผุดขึ้นกลางแม่น้ำโขงอย่างน่าอัศจรรย์ เชื่อกันว่าเป็นลูกไฟจากพญานาคที่พ่นถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธเจ้า

จากสถิติปีที่แล้ว 2566 บั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นที่จังหวัดหนองคาย จำนวน 289 ลูก มากที่สุดที่อำเภอรัตนวาปี ตามมาด้วย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ต้องรอดูว่าปีนี้ ลูกไฟจะทำลายสถิติหรือไม่

ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างชาติ หลั่งไหลไปงานประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก ที่จังหวัดหนองคาย โรงแรมที่พัก ถูกจองเต็มหมด  

นอกจากจะเป็น "วันออกพรรษา" ในวันนี้ที่จังหวัดหนองคายได้ จัดงานบั้งไฟพญานาคโลก ณ เทศบาลตำบลโพนพิสัย อำเภอโพนพิสัย มีกิจกรรมรำบวงสรวงบูชาพญาพิสัยสัตนาคราช เป็นความเชื่อและความศรัทธา จนกลายเป็นประเพณีบวงสรวงสืบทอด กันมา

นายกฯ อิ๊งค์ เปิดงาน บั้งไฟพญานาคโลก
ช่วงค่ำ นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานพิธีบวงสรวงบูชาพญาพิสัยสัตนาคราช และบั้งไฟพญานาคโลก ประจำปี 2567 ที่ลานนาคาเบิกฟ้า อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

นายกรัฐมนตรี สวมผ้าถุงสีเงินลายนาคใหญ่ คาดผ้าสไบมัดหมี่ทอมือ สีส้มอิฐ หรือ สีน้ำตาลอิฐ สีอัตลักษณ์ของหนองคายและเป็นสีตะกอนของแม่น้ำโขง เชิดชู งานบั้งไฟพญานาคโลก เป็น Soft Power ยิ่งใหญ่ที่ชาวโลกหลงใหล ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาคอีสาน