ยางไม่ได้ระเบิด แต่ท่อก๊าซหลุด สันนิษฐานเป็นต้นเพลิง

View icon 276
วันที่ 3 ต.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ไฟไหม้รถบัส ขนส่งฯ ชี้แจง กมธ.คมนาคม เปิดผลตรวจสภาพรถบัสไฟไหม้ ถังก๊าซ 11 ถัง ขออนุญาตแค่ 5 ถัง ท่อก๊าซถังที่ 8 หลุด เพลาหักขาดออกจากกันครูดผิวถนน สันนิษฐานเป็นสาเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้หรือเป็นต้นเพลิง

วันนี้ (3 ต.ค.67) เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เชิญนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เข้าชี้แจงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้รถบัสนักเรียน เพื่อสอบถามข้อสงสัยในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับความพร้อมของรถ และมาตรการรักษาความปลอดภัย

ในที่ประชุมนายชีพ น้อมเศียร ผอ.สำนักวิศวกรรมยานยนต์ ชี้แจงว่า หลังเกิดเหตุวิศวกรตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างละเอียด พบว่า รถโดยสารชั้นเดียว ด้านล่างเป็นห้องเก็บของ ยางรถหน้าทั้งซ้ายและขวาไม่ได้ระเบิด มีเพียงล้อด้านขวาชนเบียดกับแบริเออร์ ล้อรถยนต์ด้านซ้ายใช้งานได้ปกติ ประตูฉุกเฉินด้านหลังขวาใช้งานได้ มีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบได้แก่ ประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจก ประตู

ผลการตรวจสอบรถยนต์ในวันที่ 2 พบว่ารถบัสมีถังก๊าซ 11 ถัง มีท่อแก๊ส 1 เส้นหลุดออก ซึ่งเป็นตำแหน่งท่อก๊าซถังที่ 8 หลุดออกจากกัน คาดว่าจะเป็นสาเหตุให้ก๊าซรั่วหรือเป็นต้นเพลิง นอกจากนี้ ยังพบว่า เพลาล้อด้านหน้าหักและขาดออกจากกัน  นอกจากนี้ ยังได้เปรียบเทียบพื้นถนนกับตัวรถ พบรอยส่วนของที่รถบกพร่อง ครูดไปกับถนน ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุยังต้องรอการสรุปจาก สพฐ.ตร. ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้แถลงข้อมูลให้ประชาชนทราบต่อไป

ขณะที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ชี้แจงถึงเรื่องการติดตั้งถังก๊าซว่า จากการตรวจสอบถังก๊าซที่ติดตั้งเกินกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งเกณฑ์ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 6 ถัง แต่รถคันดังกล่าว ได้ติดตั้งถังก๊าซ 11 ถัง เพิ่มขึ้นมา 5 ถัง ซึ่งเกินกว่าที่จดทะเบียนแจ้งไว้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จะถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในสำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

นอกจากนี้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ย้ำกับ กมธ.ว่า ได้เตรียม 5 มาตรการ อาทิ  เตรียมทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสภาพรถ และบูรณาการกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาทั่วประเทศในเรื่องการจัดกิจกรรมศึกษาที่ต้องใช้รถโดยสารให้เกิดความปลอดภัย พร้อมกันนี้ยังเร่งเรียกขับรถโดยสารสาธารณะประจำทาง และไม่ประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ทั้งหมด 13,426 คันเข้าตรวจสภาพรถ ภายใน 60 วัน

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยังได้ชี้แจงอีกว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ว่าการติดตั้งถังก๊าซที่เพิ่มขึ้นของรถบัสคันเกิดเหตุ ได้ติดตั้งขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งเรื่องนี้บุคคลแรกที่ต้องรับผิดชอบคือ 1. ผู้ประกอบการ 2. เจ้าของรถ 3. ผู้จัดการด้านความปลอดภัย Transport Safety Manager (TSM)  และ 4. เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบของกรมขนส่งทางบก โดยยืนยันว่า ทุกอย่างมีกระบวนการตรวจสอบอย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องตรวจสอบว่า ผู้ดูแลระบบการตรวจสอบได้ทำตามกระบวนการ และตามหน้าที่หรือไม่ หากใครไม่ปฏิบัติตามกฎก็จะต้องมีการลงโทษทางวินัย ซึ่งล่าสุดเพิ่งสั่งย้าย 2 นายช่างของขนส่งจังหวัดสิงห์บุรีแล้ว

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการ ดังนี้

1.สักพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการขนส่ง ของนางสาวปาณิสรา ชินบุตร

2.สั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ขับรถของนายสมาน จันทร์พุฒ

3.สั่งยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรการจัดการด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ของนางกนิษฐา ชินบุตร ซึ่งเป็นญาติของผู้ประกอบการ

4. สั่งระงับสถานติดตั้งตรวจ และทดสอบรถที่ใช้ก๊าซเป็นเขื้อเพลิง ของบริษัท ออลเทอร์เนทีฟ รีซอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด