น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมากมาจากไหน

View icon 175
วันที่ 27 ก.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
GISTDA เปิดภาพถ่ายดาวเทียมอธิบายน้ำท่วมแม่สายโคลนจำนวนมากมาจากไหน พื้นที่ต้นน้ำแม่สายในเมียนมาเปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม-เหมืองแร่ ยังมีอีกหลายหมู่บ้านในไทย เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นที่แม่สาย

วันนี้ (27 ก.ย.67) GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เปิดภาพถ่ายดาวเทียมอธิบาย “น้ำท่วมแม่สาย” โคลนจำนวนมากมาจากไหน โดยระบุว่า ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีนี้ ทำให้ดินตามภูเขาค่อย ๆ สะสมน้ำมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันที่ 8 ก.ย.67 เกิดฝนตกหนักติดต่อกันเหนือพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำสายและแม่น้ำกก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นและไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย

โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย ที่ก่อนหน้านี้เกิดน้ำท่วมในตัวเมืองแล้ว 6 ครั้งในปี 2567 และครั้งล่าสุดช่วงกลางเดือน ก.ย.67 มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำท่วมผ่านไปแล้วแต่ชาวบ้านบางพื้นที่ยังเข้าบ้านไม่ได้ เพราะปัญหาตะกอนดินโคลนทับทมจำนวนมากที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ บางจุดมีดินโคลนทับถมสูงกว่า 2 เมตร

66f67f2aa20a63.18663949.jpg

ภูมิประเทศของเมืองแม่สาย หากพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์ ตัวเมืองแม่สายตั้งอยู่ติดกับเชิงเขาและติดกับแม่น้ำที่ไหลมาจากเขตภูเขา ในขณะเดียวกันการศึกษาด้านธรณีวิทยาพบว่าพื้นที่บริเวณตัวเมืองเเม่สาย โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำสายที่ใกล้กับด่านชายแดนไทย-เมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีดินตะกอนไหลทับถมสะสมมาตั้งแต่อดีต

ที่ตั้งของเมืองและลักษณะภูมิประเทศทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาย มีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ โดยแม่น้ำสายทอดตัวในเขตภูเขาที่เป็นพื้นรับน้ำลงสู่แม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมา ประมาณ 80% และอีก 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก

จากการสำรวจโดยนักวิชาการไทยพบว่า ปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำแม่สายได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพของป่าไม้การชะลอและกักเก็บน้ำลดลงไปด้วย หลักฐานปรากฏชัดเจนด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 ก.ย.67 ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา ในเขตอำเภอแม่สาย ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของพื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่น้ำสาย พบดินถล่มหลายจุดปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีเขียวของป่าไม้หรือแปลงเกษตรอย่างเห็นได้ชัด

แต่ละร่องรอยมีความกว้างประมาณ 20 – 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่าง

66f67f2abda6e7.70290661.jpg

นอกจากนั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศ ทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายหมู่บ้านในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นที่แม่สาย และในอดีตก็เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นการตระหนักรับรู้ความเสี่ยงในพื้นที่ของตนและปรับตัวตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง