น้ำป่าทะลักท่วมหมู่บ้าน-หอพัก ม.พะเยา นักศึกษาหนีขึ้นหลังคา

View icon 104
วันที่ 17 ก.ย. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - น้ำป่าทะลักท่วมชุมชน-หอพัก หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา หลังฝนกระหน่ำทั้งคืน บางจุดระดับน้ำสูง 1-2 เมตร ชาวบ้าน-นิสิตนักศึกษาหนีตาย เพราะกระแสน้ำเชี่ยวกราก พัดรถพังเสียหายกว่า 200 คัน

น้ำป่าหลากท่วมหมู่บ้าน-หอพัก
เหตุการณ์เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา หลังฝนตกหนักตลอดทั้งคืน เกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักลงลำห้วยแม่กา-ห้วยเคียน เชื่อมต่อระหว่างอำเภองาว จังหวัดลำปาง และบ้านห้วยเคียน หมู่ 16 ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นชุมชนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา

นักศึกษาหนีน้ำไม่ทัน ปีนขึ้นหลังคาหอพัก
ทำให้ปริมาณน้ำล้นตลิ่ง หลากเข้าท่วมหมู่บ้าน และหอพัก กว่า 100 หลัง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก ระดับน้ำบางจุดสูง 1 -2 เมตร กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ที่อยู่หอพักชั้นล่าง ต้องหนีน้ำขึ้นหลังคา เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่

รถพังเสียหายหลายสิบคัน
ยังมีคลิปที่ชาวบ้านถ่ายไว้เมื่อตอนเช้า น้ำป่าไหลหลากทะลักลำห้วยแม่กา-ห้วยเคียน กระแสน้ำไหลแรง รถเล็กผ่านไปมาไม่ได้ รถจักรยานยนต์ จอดกองอยู่คอสะพาน ส่วนที่หน้าหอพักนักศึกษา รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ นับ 100 คัน ถูกกระแสน้ำพัดไปเกยกัน ขณะที่ ม.พะเยา ได้ใช้อาคารเก่าด้านหน้า เป็นของตำรวจในพื้นที่ ทำเป็นศูนย์พักพิงแก่นักศึกษา พร้อมประสานเรื่องอาหารการกินมาให้แล้ว

น้ำลดระดับ รถยนต์-จยย.เสียหายเพียบ
กระทั่ง 09.00 น. ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง ใกล้เข้าสู่สภาวะปกติ มวลน้ำไหลลงลำน้ำแม่ต๋ำ พื้นที่อำเภอเมืองพะเยา ถนนสายหลักเปิดใช้การได้ สภาพหลังน้ำลด ทิ้งความเสียหายไว้ให้กับหอพัก-บ้านเรือน และทรัพย์สินของชาวบ้านหมู่ 16 ตำบลแม่กา โดยเฉพาะรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เสียหายมากกว่า 200 คัน เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถสไลด์ชักลากรถออกจากพื้นที่น้ำท่วม เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต

สร้างทางรถไฟขวาง ทำน้ำทะลักท่วม
นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา บอกว่า ฝนตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมชุมชนบ้านห้วยเคียน ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างทางรถไฟ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย บริเวณ บ้านหม้อแกงทอง ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา ซึ่งมีการนำเอาดินไปปิดกั้นทางน้ำ ที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำได้ จนเกิดการเอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนบ้านห้วยเคียน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ท่วมในครั้งนี้ กำลังไหลลงสู่ลำน้ำแม่ต๋ำและไหลลงสู่กว๊านพะเยา ซึ่งกว๊านพะเยายังรองรับน้ำได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนริมกว๊านแน่นอน

แม่สาย เผชิญวิกฤติ ดินโคลน
ส่วนมหาอุทกภัยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ระดับน้ำจะลดลงแล้ว แต่ปัญหาหนักที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ คือ เรื่องดินโคลนที่ไหลมากับน้ำ ตกค้างอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณหัวฝาย ในชุมชนถ้ำผาจม จุดที่แม่น้ำสาย เข้าเมืองแม่สายเป็นจุดแรก ก่อนจะท่วมตลาดสายลมจอย มีดินโคลน รวมทั้งเศษไม้เศษขยะ ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เทศบาลตำบลเวียงพางคำ ต้องใช้รถแบคโฮขนาดใหญ่เข้าไปขุดตักออก แล้วขนไปทิ้งในลานดินสาธารณะ อยู่ห่างไปหลายกิโลเมตร
     
นายฉัตรชัย นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพางคำ บอกว่า ที่บ้านถ้ำผาจม หรือหัวฝาย มีดินโคลนตกค้างจำนวนมาก บางจุดสูงกว่า 5 เมตร จุดนี้มีความสำคัญ คือเป็นที่ตั้งของสถานีสูบน้ำการประปา ต้องแก้ไขด่วน เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้เร็วที่สุด

บ้านถ้ำผาจม เสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพางคำ บอกว่า ความเสียหายยังประเมินไม่ได้ เฉพาะที่บ้านถ้ำผาจม คาดว่า ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 300 ครัวเรือน การฟื้นฟูถนนสายต่าง ๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ตามซอกซอยและตามบ้านเรือน อาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือน

ยกที่ดิน 15 ไร่ ให้ทิ้งดินโคลน 
เรื่องของพื้นที่ทิ้งดินโคลน ที่มีไม่เพียงพอนั้น มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า "Shinnavit Sodee" หรือนายชินวิทย์ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ โพสต์ข้อความระบุว่า "ใครกำลังหาที่ทิ้งโคลน ผมมีที่อยู่แปลงนึ่ง จำนวน 15 ไร่ มีบ่อ 4 บ่อ ด้านหน้าติดถนน ขับรถเข้าออกสะดวก ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บ้านดู่ ห่างจากตัวเมืองไม่มาก หากใครต้องการทิ้งดินโคลน ที่เกิดจากน้ำท่วม ขนไปลงหน้าที่ได้เลย เจ้าของที่ยินดีช่วยเต็มที่" โพสต์ดังกล่าว มีคนเข้ามากดไลก์ กดแชร์ พร้อมคอมเมนต์แห่ชื่นชมในความมีน้ำใจ

ครม. อนุมัติงบกลางเยียวยาน้ำท่วม
ขณะที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 งบกลาง เป็นจำนวน 3,045 ล้านบาท

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงมหาดไทย ช่วยเร่งขั้นตอน และกระบวนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และลดขั้นตอนเอกสารที่ต้องยื่น เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

เยียวยาบ้านที่เสียหายเกิน 70% หลังละ 2.3 แสนบาท
ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ด้านประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งนายกฯ กำชับกระทรวงต่าง ๆ ให้ดูว่าสัปดาห์นี้เและสัปดาห์ถัดไป สถานการณ์เรื่องพายุจะเป็นอย่างไร จะได้เตรียมรับมือได้ และขอให้เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิดเป็นรายชั่วโมง ตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะพี่น้องที่ตกค้างในพื้นที่ประสบภัยภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานตอนบน

ส่วนบ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วม ทางมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะลงไปดูและสรุปโดยเร็ว ถ้าบ้านเรือนที่เสียหายเกิน 70% จะรับเงินเยียวยา 230,000 บาท

ขอบคุณภาพจาก : TikTok@jikmy_