บพท. สานพลังโครงการวิจัยชุดประสานงานและบริหารจัดการงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ขับเคลื่อนโครงการชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ โชว์กว่า 100 ชุดความรู้จากผลงานวิจัย เติมพลังนวัตกร นักวิจัย ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน มุ่งสร้างชุมชนนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ทำให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดและนิทรรศการชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และโครงการวิจัย ชุดประสานงานและบริหารจัดการงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูงสำหรับขับเคลื่อนโครงการชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ ภายใต้แนวคิดเสริมพลังนวัตกรด้วยนวัตกรรมเด่นสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในการสนับสนุนให้ บพท. ตอบโจทย์เป้าหมายตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์สำหรับเศรษฐกิจฐานราก และชุมชนนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมโดยกลไกการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล และสร้างตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมของชุมชน ผ่านการสร้างนวัตกรชาวบ้านในชุมชน เกิดการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในคุณค่าความสำคัญของงานวิจัย และการพัฒนากรอบการวิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยกลไก กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลไกการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และทำให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างนักวิจัย ชุมชน และภาครัฐ การสร้างฐานข้อมูลองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมพร้อมใช้แล้วนั้น ยังส่งเสริมการบูรณาการแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการให้คุณค่าและความสำคัญแก่ผู้ที่ทำงานเพื่อพื้นที่ ทำงานรับใช้สังคม ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ คือ อาจารย์ นักวิจัย บุคลากรของมหาวิทยาลัย ภาคชุมชน ทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน หรือนวัตกรชาวบ้าน” รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าว
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการเผยแพร่ผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีพร้อมใช้ สู่สาธารณชนในวงกว้าง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา แล้วนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และศักยภาพการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน คู่ขนานไปกับการเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัย และนวัตกร เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในการทุ่มเททำงานพัฒนาพื้นที่ ชุมชน/ท้องถิ่น
ขณะที่ รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ หัวหน้าโครงการชุดประสานงานและบริหารจัดการงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูงสำหรับขับเคลื่อนโครงการชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า งานที่จัดขึ้นนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยชุมชนนวัตกรรม เทคโนโลยีพร้อมใช้ และนวัตกรชุมชน มากกว่า 100 ผลงาน และชุดความรู้จากโครงการวิจัยจำนวน 34 ชุด รวมทั้งการออกร้านของร้านค้าชุมชนนวัตกรรม
โดยกระบวนการสร้างการเรียนรู้ด้วยกระบวนการมีส่วนรวม จะช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมถึงมีขีดความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง และความผันผวนทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต รวมทั้งสามารถฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเกิดปัญหา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาปีงบประมาณ 2563 – 2566 บพท. ได้ดำเนินการแผนงานวิจัย “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนนวัตกรรมที่มีความสามารถในการพัฒนา พึ่งตนเองและจัดการตนเอง โดยการสร้างและพัฒนานวัตกรชุมชนมีทักษะ การจัดการความรู้ เรียนรู้ และรับปรับใช้นวัตกรรม สามารถนำความรู้และนวัตกรรมพร้อมใช้ (Appropriate Technology) ไปใช้ในการจัดการปัญหาในชุมชน หรือสร้างโอกาส/ศักยภาพใหม่ในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ (Learning and Innovation Platform)
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ สถาบัน/มหาวิทยาลัย/หน่วยงาน จำนวน 27 สถาบัน เกิดชุมชนนวัตกรรม 954 ชุมชน (ตำบล) ในพื้นที่ 44 จังหวัด สร้างนวัตกรชุมชน จำนวน 10,093 คน และเทคโนโลยี และนวัตกรรมพร้อมใช้ รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชนทั้งสิ้น 1,228 นวัตกรรม ที่ใช้ยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 อีกทั้งยังเกิดการนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาตำบล/ท้องถิ่น และเกิดการสร้างระบบข้อมูล Technology and Innovation Library ของประเทศอีกด้วย