สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดสุรินทร์

View icon 180
วันที่ 16 ก.ย. 2567
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 10.54 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตพันธุ์ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรองไว้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้จัดตั้งศูนย์ฯ ณ หมู่ที่ 2 บ้านกุง อำเภอสำโรงทาบ เมื่อปี 2556

ปัจจุบัน มีชุมชนเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ใน 3 จังหวัด 8 อำเภอ รวม 12 กลุ่ม ได้แก่ ที่จังหวัดสุรินทร์ 10 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอเมือง, อำเภอจอมพระ, อำเภอศีขรภูมิ, อำเภอชุมพลบุรี, อำเภอสำโรงทาบ และอำเภอสังขะ, จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรอำเภอลำปลายมาศ และจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอราษีไศล รวม 449 ราย พื้นที่ผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน 4,542 ไร่ แต่ละกลุ่มมีคณะกรรมการบริหาร ควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ตั้งแต่การเตรียมแปลงนา จนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีและมีคุณภาพที่สุด

นอกจากนี้ มีพระราชดำริให้ปรับปรุงสระน้ำในแปลงนา และขุดบ่อตามความเหมาะสม ดำเนินการแล้ว 671 สระ บริเวณคันดินรอบสระสามารถปลูกพืชผักผลไม้ไว้บริโภค และนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดและปรับปรุงสระน้ำสาธารณะ 10 สระ เพื่อให้ราษฎรใช้อุปโภค-บริโภค

โดยปีนี้ ได้พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 กว่า 1.3 ล้านกิโลกรัม ที่สะสมสำรองไว้แก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้ง และอุทกภัย ในจังหวัดสุรินทร์, มหาสารคาม, บุรีรัมย์ นครราชสีมา, ยโสธร และศรีสะเกษ รวม 10,441 ราย นำไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายกว่า 91,000 ไร่

ส่วนโครงการ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" พระราชทานกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี นำไปปลูกริมถนน และพื้นที่สาธารณะในหมู่บ้าน ให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลรักษา เมื่อเติบโตได้ผลผลิตแล้วให้แบ่งปันกันในชุมชน รวมถึงส่งเสริมการเลี้ยงโคและกระบือในชุมชน โดยกรมปศุสัตว์ และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้เข้ามาแนะนำการดูแลสุขภาพสัตว์ และสนับสนุนการผสมเทียมโค และกระบือพระราชทาน

โอกาสนี้ กรมวิชาการเกษตรได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงขอนแก่น 6 จำนวน 1 ตัน เพื่อพระราชทานแก่สมาชิกผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" นำไปปลูกเป็นพืชหลังนา

เวลา 14.12 น. เสด็จพระราชดำเนินไปวัดบ้านหนองแคน อำเภอสำโรงทาบ ทรงติดตามการดำเนินโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ที่ผ่านมาสมาชิกทุกกลุ่ม มีความรู้เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ดี มีคุณภาพ ปราศจากข้าวอื่นปลอมปน ปัจจุบัน ส่งเสริมให้ผลิตข้าวมีคุณภาพมากขึ้น ได้ผลผลิตสูงขึ้น ลดและเลิกใช้สารเคมี เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลทางธรรมชาติในระบบนิเวศ ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค

ด้านโครงการแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานผู้นำกลุ่มชุมชนในเครือข่ายของมูลนิธิชัยพัฒนา กับ UNESCO INRULED องค์กรชั้นนำด้านการพัฒนาชนบทของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้นำชุมชนจากจังหวัดสุรินทร์ เป็นตัวแทนเกษตรกรไทย ไปเผยแพร่ความสำเร็จของมูลนิธิชัยพัฒนาสู่เวทีระดับนานาชาติ, แบ่งปันข้อมูลด้านการตลาด และประสบการณ์การปฏิบัติ ซึ่งมีเป้าหมายคือ การพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ สมาชิกกลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยบ้าน" บ้านกระเบื้อง น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายลูกโคที่เกิดจากโคพระราชทาน ซึ่งได้พระราชทานต่อให้เพื่อนสมาชิกเลี้ยง ได้มูลโคใช้ทำปุ๋ยบำรุงดินเป็นแนวทางช่วยลดและเลิกใช้สารเคมีที่ยั่งยืน

จากนั้น ทรงติดตามการ "จัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำจากสระน้ำพระราชทานสำหรับทำนาหยอด" สำนักสารสนเทศ มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำ หรือ "ไม้ไผ่อัจฉริยะ" ตั้งแต่ปี 2563 เก็บข้อมูลระดับน้ำเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอปลูกข้าวนาดำ และใช้ประโยชน์ด้านอื่นในปี 2567 ได้ติดตาม เก็บข้อมูลการใช้น้ำจากสระน้ำพระราชทานของสมาชิกบ้านหนองแคน อำเภอสำโรงทาบ และบ้านกระเบื้อง อำเภอชุมพลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการทำนาหยอด

มูลนิธิชัยพัฒนา ยังร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านขอนแก่น ตำบลหนองฮะ วางแผนขยายช่องทางการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผ่านโซเชียลมีเดีย อบรมระดมความคิด วางแผน และบอกเล่าเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบประณีตให้เป็นที่แพร่หลาย สร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล และบริษัท แทงโกเลเธอร์ ร่วมส่งเสริมอาชีพห้ตถกรรมการทอเสื่อกก ช่วยออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม และสนับสนุนให้เยาวชนร่วมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้นปีหน้า จะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ ใช้วัตถุดิบหลักจากท้องถิ่นเน้นสีธรรมชาติ แปรรูปเศษผ้าเป็นสินค้าชนิดอื่น สินค้าที่ได้รับความนิยม คือ กระเป๋าทรงคางหมู มียอดจำหน่ายกระเป๋าทุกแบบ กว่า 3,000 ใบ สร้างรายได้กว่า 1 ล้านบาท

การทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเปลือกไม้และพืช มีชุมชนในจังหวัดสุรินทร์เข้าร่วม 4 กลุ่ม ได้แก่ บ้านโคกไทรงาม อำเภอสังขะ, บ้านแคน กับบ้านกุง อำเภอสำโรงทาบ และบ้านกันโจรง อำเภอจอมพระ

ด้านการส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิของมูลนิธิฯ ภายใต้ชื่อข้าวหอมมะลิ "จันกะผัก" ปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการจำหน่ายข้าวหอมมะลิ กับบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน เพื่อนำไปประกอบอาหารบริการผู้โดยสาร และกิจกรรมของฝ่ายครัวการบิน

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสแก่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง