กรมสุขภาพจิต แนะวิธีรับมือหลังน้ำลด

View icon 30
วันที่ 15 ก.ย. 2567
เจาะประเด็นข่าว 7HD
แชร์
เจาะประเด็นข่าว 7HD - ยังอยู่กับความเสียหายหลังน้ำลด ข้าวของ ทรัพย์สินต่าง ๆ บ้านเรือนที่พังเสียหาย ยังพอเยียวยาได้ ส่วนสิ่งที่ต้องเร่งเยียวยาอีกอย่าง สภาพจิตใจของผู้ประสบภัย เพื่อให้ทุกอย่างก้าวผ่านไปได้

ทีมข่าว 7HD สอบถามไปยังนายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า กรมสุขภาพจิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (หรือ MCATT) เข้าไปดูแล และประเมินสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ทุกจุดตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่น้ำเริ่มท่วมแล้ว เพื่อลงไปคัดกรองกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มสีแดง มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตรุนแรง จากการสูญเสียทรัพย์สิน เงินทอง และสมาชิกในครอบครัว เสี่ยงซึมเศร้า คิดทำร้ายตัวเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าหากเป็นกลุ่มไม่รุนแรงมาก จะมีกิจกรรม และแนวทางเยียวยาสภาพจิตใจ ตามอาการ

คุณหมอ บอกว่า ฝากความห่วงใยไปถึงผู้ประสบภัยทุกคน รวมถึง พี่น้องทางภาคอีสาน ที่กำลังเจอน้ำท่วมอยู่ คือจะต้องตระหนัก แต่ไม่ตื่นตระหนกในการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เลือกเสพข่าวที่น่าเชื่อถือ ไม่เสพข่าวปลอม หรือการแชร์ข้อมูลผิด ๆ ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล จนไม่มีสติในการรับมือ สิ่งสำคัญคือการพูดคุยกับคนในครอบครัว ซักซ้อมแผน และวางหน้า แบ่งหน้าที่ ช่วยกันรับมือ เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นมากะทันหัน จะได้รับมือได้

คราวนี้มาดูสัญญาณเตือนด้านสุขภาพจิต ในกลุ่มวิกฤต หลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม จะมีอาการเหล่านี้ คือ สับสนและแยกตัว นึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำ ๆ หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน ตื่นกลัวเกินเหตุ หรือไม่รับรู้สิ่งรอบตัว รู้สึกเศร้าและร้องไห้บ่อย ดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด หรือใช้สารเสพติด