สวนกระแส “ลำตะคอง” น้ำน้อยวิกฤติ เหลือใช้แค่ 22 % แม้ที่อื่นน้ำมากจนล้น

View icon 114
วันที่ 15 ก.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“ลำตะคอง”  สวนกระแส แม้ที่อื่นน้ำมากจนล้น  แต่เขื่อนลำตะคอง โคราช ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อยวิกฤติ” เหลือใช้แค่ 22 % เท่านั้น หวั่นไม่มีน้ำผลิตประปา รอฝนช่วยเติมน้ำ

วันนี้ (15 กันยายน 2567) ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา โดยโครงการชลประทานนครราชสีมา  ได้รายงานสถานการณ์น้ำเก็บกักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง เหลือน้ำเฉลี่ย  353.35  ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.91 %  และเป็นน้ำใช้การได้แค่ 315.91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ  37.25  %  

โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคองที่ส่งจ่ายน้ำหล่อเลี้ยงชาวโคราชถึง 5 อำเภอ ปัจจุบันเหลือน้ำอยู่ที่  88.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28.28 % เท่านั้น และเป็นน้ำใช้การได้แค่ 66.20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 22.69 %  ถือว่าปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อยวิกฤติ” 

ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง  เหลือน้ำอยู่ที่  60.11 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.79 %  เป็นน้ำใช้การได้ 59.39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.50% 

ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน เหลือน้ำอยู่ที่ 71.39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 50.64 %  เป็นน้ำใช้การได้ 64.39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 48.06 %   และอ่างเก็บน้ำลำแชะ  เหลือน้ำอยู่ที่ 132.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 48.33 %  และเป็นน้ำใช้การได้ 125.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 46.99 %    

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 23 แห่ง เหลือน้ำเก็บกักรวม ล่าสุดอยู่ที่  137.99 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 30.73  %  และเป็นน้ำใช้การได้ 20.82 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.47 %    

สรุปอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และขนาดกลาง 23 แห่ง รวมทั้งหมด 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีน้ำเก็บกักรวมเฉลี่ยอยู่ที่   491.35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.25 % และเป็นน้ำใช้การได้ 428.53 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.01 %   ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อย” คือมากกว่า 30 % แต่ไม่ถึง 50 %  ทั้งที่หลายจังหวัดขณะนี้กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก  แต่จังหวัดนครราชสีมา กลับมีฝนตกน้อย  ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดค่อนข้างแล้ง และมีน้ำไหลลงอ่างฯ น้อยมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่ล่าสุดปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อยวิกฤติ”  มีน้ำใช้การได้แค่ 66.20  ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 22.69 % เท่านั้น 

ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้ออกประกาศล่าสุด ฉบับที่ 4 (43/2567) เช้าวันนี้ เวลา 06.00 น. เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 15-17 กันยายน 2567 เนื่องจากมีร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่  โดยจังหวัดที่คาดว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 15 กันยายน 2567 มีโอกาสเกิดฝน 80 % ของพื้นที่ ได้แก่ บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนช่วงวันที่ 16-17 กันยายน 2567 คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีโอกาสเกิดฝน 60-70 % ของพื้นที่ ได้แก่ บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี

จังหวัดนครราชสีมา จึงคาดว่า จะได้รับอานิสงส์มีฝนมาเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำในช่วงดังกล่าวนี้ แต่ประชาชนต้องเตรียมรับมือฝนที่ตกสะสมด้วย เพราะอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม