ชาวบ้านเกาะกง ระทม น้ำท่วมสูงเกือบ 3 เมตร

View icon 82
วันที่ 9 ก.ย. 2567
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย ส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วม ระดับน้ำที่เคยท่วมขัง ขณะนี้ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ เหลือเพียงบางพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะ น้ำยังคงท่วมสูง อย่างที่อำเภอกงไกลาส

ชาวบ้านเกาะกง ระทม น้ำท่วมสูง
ภาพมุมสูงจะเห็น แม่น้ำยมเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนเกาะกง อำเภอกงไกรลาศ ซึ่งน้ำเก่ายังไม่หมดน้ำใหม่ก็เข้ามาเติมอีก ส่งผลให้ระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 3 เมตร ชาวบ้านกว่า 50 หลังคาเรือนถูกตัดขาด การเดินทางเข้า-ออก ต้องใช้เรือสัญจรเท่านั้น
ชาวบ้านชุมชนเกาะกง บอกว่า ชุมชนเกาะกงประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี และปีนี้ระดับน้ำสูงมากกว่าทุกปี ถ้าน้ำในแม่น้ำยมยังเพิ่มสูงหรือมีฝนตกซ้ำอีก อาจจะต้องย้ายออกไปอยู่บ้านญาติ

เขื่อนเจ้าพระยา ยังไม่ปรับการระบายน้ำ
ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ยังคงระบายน้ำท้ายเขื่อนในอัตรา 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ติดต่อเป็นวันที่ 5 ทั้งนี้ ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังพายุยางิ ที่จะทำให้เกิดฝนตกหนัก อาจทำให้แม่น้ำเจ้าพระยา กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง  ซึ่งหากแม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก เขื่อนเจ้าพระยาจะปรับเพิ่มระบายน้ำแบบขั้นบันไดในอัตรา 1,500-1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประกาศเตือน 10 จังหวัดภาคกลาง ในพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำ, พื้นที่ลุ่มต่ำ, พื้นที่นอกคันกั้นน้ำของ ในจังหวัด อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, ลพบุรี, อ่างทอง สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ และเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

ส่งงานต่อ รัฐมนตรี ก.เกษตรฯ คนใหม่
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอัคร พรหมเผ่า และนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เดินทางมาที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ซึ่งระหว่างการประชุม ร้อยเอก ธรรมนัส ได้ส่งงานต่อให้กับรัฐมนตรีหน้าใหม่ทั้ง 3 คน เพราะเป็นการนั่งหัวโต๊ะประชุมครั้งสุดท้าย

นางนฤมล ให้สัมภาษณ์ว่า ขอให้รอฟังการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และรับมือพายุยางิ เตรียมมาตรการรับมือน้ำเหนือที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่ภาคกลาง และเตรียมแผนระบายน้ำ ให้ประชาชนเตรียมการรองรับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจจะได้ไม่เกิดความกังวล

ทำแนวป้องกันน้ำทะลักท่วมโบราณสถาน
สำหรับพื้นที่ท้ายน้ำ อย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าวานนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะทรงตัว แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ได้ระดมเครื่องจักรรถแบ็กโฮ และคนงานตอกเสาเข็มทำแนวป้องกันน้ำทะลักท่วมบริเวณชุมชนท่าวาสุกรี วัดหน้าพระเมรุ ซึ่งเป็นโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวนอกเกาะเมือง และบ้านเรือนประชาชนกว่า 2,500 ครัวเรือน

ขณะที่เจ้าท่าภูมิภาคสาขาอยุธยา เตือนผู้ประกอบการเดินเรือลากจูงขนถ่ายสินค้า ให้เพิ่มความระมัดระวัง หรืองดการเดินเรือช่วงนี้ เพราะกระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักไหลเชี่ยว

น้ำโขงเริ่มลดพ้นจุดวิกฤต
ส่วนน้ำโขง ทางภาคอีสาน ที่จังหวัดนครพนม พบว่าลดระดับลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 9.20 เมตร ห่างจากจุดวิกฤตประมาณ 3 เมตร ยังสามารถรับมวลน้ำได้อีกจำนวนมาก ทำให้ลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม เริ่มระบายลงน้ำโขงได้เร็วขึ้น

เตือน เหนือ-อีสานตอนบน ฝนตกหนัก
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุยางิ ฉบับที่ 22 (181/2567) ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้ ความว่า เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันนี้ (8 ก.ย.) พายุดีเปรสชันยางิ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง