แจ้งเตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เตรียมรับน้ำเพิ่ม

แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - เขื่อนเจ้าพระยา เตรียมปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในสัปดาห์หน้า แจ้งเตือนพื้นที่ 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา รับมือระดับน้ำสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตร

11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เตรียมรับน้ำเพิ่ม จ.ชัยนาท
กรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนพื้นที่ 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพฯ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำภายใน 1-7 วันข้างหน้านี้ จะมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นจากเดิมประกอบกับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ มีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร

ทั้งนี้ จะเป็นการปรับเพิ่มแบบขั้นบันได แต่ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและพื้นที่ทางการเกษตรให้น้อยที่สุด

น้ำท่วมโรงเรียน-ชุมชน จ.พระนครศรีอยุธยา
"แม่น้ำน้อย" ที่ไหลผ่านอำเภอเสนา และ บางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เอ่อล้นท่วมโรงเรียน โรงพยาบาลในชุมชน และบ้านเรือนประชาชนหลายจุด ซึ่งเป็นผลจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางโรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดตะกู ประกาศปิดการเรียนการสอนแบบไม่มีกำหนด

เร่งสูบน้ำท่วม ช่วยเหลือชาวบ้าน จ.นครราชสีมา
ภาคอีสาน แม้สถานการณ์น้ำจะคลี่คลาย แต่ชาวบ้านพันดุง และ บ้านหัวสระ หมู่ 5 ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา น้ำที่ท่วมขังระบายไปไหนไม่ได้ ทำให้เกิดการเน่าเสีย กระทบชาวบ้านกว่า 30 หลังคาเรือน เทศบาลฯ และ อบต. ต้องนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาสูบน้ำออกจากพื้นที่ ท่ามกลางความดีใจของชาวบ้าน แต่ก็ยังเป็นห่วงและกังวลว่าจะมีพายุฝนเข้ามาอีก

ตรวจอ่างเก็บน้ำบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง
นายยุทธนา มหานุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 กรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมอาคารประกอบและระบบส่งน้ำ ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ลักษณะเป็นเขื่อนดิน ความจุ  73.70 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะนี้การก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในปีหน้า ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ซึ่งในช่วงที่คาดว่าจะมีอิทธิพลจากพายุในพื้นที่ภาคอีสาน กรมชลประทานจะทดสอบการจัดการน้ำช่วยปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ภายหลังพายุขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นทางภาคเหนือและภาคอีสาน บริเวณจังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และ บึงกาฬ

อิทธิพลของพายุลุกนี้ จะส่งผลต่อสภาพอากาศในบ้านเรา ทำให้มรสุมประจำฤดูมีกำลังค่อนข้างแรง ต้องระวังฝนตกหนักทางภาคตะวันออก และภาคใต้ คลื่นลมทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง คลื่นสูงได้ 2-3 เมตร บริเวณที่ฝนตกคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันพรุ่งนี้