เขื่อนเจ้าพระยา ยังไม่ระบายน้ำเพิ่มขึ้น

View icon 92
วันที่ 6 ก.ย. 2567
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เขื่อนเจ้าพระยา ยังไม่ปรับเพิ่มการระบายน้ำ หากจะปรับเพิ่มอีก ต้องดูปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

เขื่อนเจ้าพระยา ยังไม่ระบายน้ำเพิ่มขึ้น
วันนี้เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ยังคงระบายน้ำลงท้ายเขื่อนในอัตราเดิม 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น โดยนายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เผยว่า การที่จะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อใดนั้น ต้องดูว่าฝนที่ตกในระยะนี้ จะส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

น้ำเหนือเขื่อนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ หมู่ 3 และหมู่ 4 ตำบลศิลาดาน อำเภอมโนรมย์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผักสวนครัวใหญ่ที่สุดในจังหวัดชัยนาท แปลงผักถูกน้ำท่วมสูง 20-40 เซนติเมตร เกษตรกรต้องลงแขกช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิต

แต่ก็ไม่ทันการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงครึ่งเดียว จากพื้นที่กว่า 500 ไร่ มีทั้ง ถั่วฝักยาว พริก มะระ มะเขือเปราะ และพืชไร่ อย่างข้าวโพด บางส่วนจมน้ำเสียหายไปกว่าครึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ยังได้ต้นทุนที่ลงไปกลับคืนมา ดีกว่าทิ้งผลผลิตให้จมน้ำเสียหายไปทั้งหมด  

เสริมความแข็งแรงแพ แม่น้ำเจ้าพระยา
และเมื่อมีการประกาศเตรียมระบายน้ำเพิ่มเป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่าง วัดต้นสน อำเภอเมืองอ่างทอง ได้นำเชือกมาผูกมัดกับเสาหลัก เพื่อเสริมความแข็งแรงป้องกันแพหลุดลอยไปกับกระแสน้ำ เหมือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่บริเวณพนังกั้นน้ำ ได้นำแท่งแบริเออร์มาตั้งเป็นแนวป้องกันน้ำเป็นชั้นที่สอง เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วม

มั่นใจป้องกันน้ำท่วมเข้าบ่อขยะ
ส่วนน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอบางบาล และยังมีศูนย์กำจัดขยะต้นแบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลมหาพราหมณ์ เนื้อที่ประมาณ 372 ไร่ ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลว่า หากน้ำท่วม จะทำให้บ่อขยะได้รับผลกระทบให้ขยะและมลพิษต่าง ๆ ลอยมากับน้ำ ทางด้าน นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา ยืนยันว่า มีการออกแบบก่อสร้าง เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม จะไม่เกิดปัญหาเหมือนน้ำท่วมหนักปี 2554

เหนือ-อีสาน เตรียมรับอิทธิพลซูเปอร์ไต้ฝุ่น "ยางิ"
คาดว่า ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากซูเปอร์ไต้ฝุ่น "ยางิ" จากปลายหางของหย่อมความกดอากาศต่ำหลังพายุขึ้นฝั่ง ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นทางภาคเหนือ และอีสาน บริเวณจังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ

ขณะเดียวกัน อิทธิพลของพายุ จะส่งผลต่อสภาพอากาศในบ้านเรา ทำให้มรสุมประจำฤดูมีกำลังค่อนข้างแรง ต้องระวังฝนตกหนักทางภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือเรื่องของ คลื่นลมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรง คลื่นสูงได้ 2-3 เมตร บริเวณที่ฝนตกคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 8 กันยายนนี้