สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศประจำวันนี้ ( 6 ก.ย.67) เวลา 7.00 น.

View icon 152
วันที่ 6 ก.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สนทช. ย้ำ 6 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาวางแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมล่วงหน้า คาด 9-10 ก.ย. 67 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาในพื้นที่ตะวันออก ภาคกลาง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ 6 ก.ย.67 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (108 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ขอนแก่น (91 มม.) ภาคกลาง : จ.ชัยนาท (29 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (49 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (25 มม.) ภาคใต้ : จ.ปัตตานี (96 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้

คาดการณ์ :.ช่วงวันที่ 7-11 ก.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคตะวันออก และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” (YAGI) ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 67 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชันตามลำดับ

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 63% ของความจุเก็บกัก (50,818 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 46% (26,634 ล้าน ลบ.ม.)

3. สทนช.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่.1 ก.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
3.1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
3.2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
3.3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

4. สถานการณ์น้ำ : วานนี้ (5 ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ ครั้งที่ 7/2567 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามจุดเสี่ยงคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ อาคารชลศาสตร์ ในเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง คลองบางบาล อ.ผักไห่ และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ประกอบกับอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่จะเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 8 ก.ย. 2567 คาดว่าจะทำให้มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บริเวณแม่น้ำโขง) ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก

โดย สทนช.ได้นำเสนอแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณน้ำช่วงเดือนกันยายน โดยคาดว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานี C.2 ที่จังหวัดนครสวรรค์ จะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที และในช่วงวันที่ 9-10 ก.ย. 2567 คาดว่าจะมีน้ำระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 - 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำของ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมวางแผนรองรับสถานการณ์ล่วงหน้าด้วย

5. สถานการณ์อุทกภัย : วันที่ 5 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล และพญาเม็งราย) จ.สุโขทัย (อ.สวรรคโลก ศรีสำโรง คีรีมาศ และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ บางระกำ บางกระทุ่ม ชาติตระการ และพรหมพิราม) จ.นครสวรรค์ (อ.ชุมแสง) จ.อ่างทอง (อ.โพธิ์ทอง วิเศษชัยชาญ แสวงหา และป่าโมก) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา เสนา บางบาล ผักไห่ บางไทร และบางปะอิน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง