ฝนถล่ม ถนนทรุด จ.ชลบุรี

View icon 130
วันที่ 4 ก.ย. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ช่วง 1-2 วันนี้ ระดับน้ำลุ่มเจ้าพระยาเริ่มทรงตัว แต่ยังไม่น่าไว้ใจ เพราะต้องดูมวลน้ำเหนือที่จะหลากลงมาเติม ขณะที่ ภาคตะวันออก เจอฝนถล่มหนัก ทำน้ำกัดเซาะถนนทรุด

ฝนถล่ม ถนนทรุด จ.ชลบุรี
จังหวัดชลบุรี เจอฝนตกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ทำให้หลายจุดมีน้ำรอการระบาย แต่ที่น่าห่วงและชาวบ้านได้รับผลกระทบ คือ ชุมชนซอยวังหิน อำเภอศรีราชา ที่เกิดน้ำกัดเซาะจนถนนทรุด ความลึกกว่า 2 เมตร และกว้าง 10 เมตร ทำให้ป้ายซอยและแผงกั้นเหล็กร่วงตามไปด้วย

การลงสำรวจในพื้นที่ พบว่าเกือบทั้งเส้นทางถูกน้ำกัดเซาะจนเป็นโพรง มีบ้านทรุดไป 2 หลัง และมีแนวโน้มจะทรุดเป็น "โดมิโน" อีกหลายสิบหลัง เนื่องจากกระแสน้ำที่กัดเซาะยังมีปริมาณมาก และไหลเชี่ยวกราก

ระทึก หวั่นน้ำท่วม คันกั้นน้ำซ่อมไม่เสร็จ
ส่วนชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดเชิงเลน ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วิตก กลัวน้ำท่วมบ้าน หลังจากคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัวลงในน้ำเป็นแนวยาวกว่า 100 เมตร ผ่านมาแล้ว 3 เดือน แต่ยังซ่อมไม่เสร็จ

เฝ้าดูระดับน้ำลุ่มเจ้าพระยา จ.นนทบุรี
สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาเมื่อคืน มีน้ำทะเลหนุน แต่ยังไม่น่ากังวล เพราะช่วง 1-2 วันนี้ ระดับน้ำลดลงและเริ่มทรงตัว แต่ที่เจ้าหน้าที่กลัว คือ มวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากอยุธยา หากมีปริมาณมาก จะทำให้เอ่อล้นกระทบในหลายชุมชน

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รอรับมวลน้ำลุ่มเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ
สถานการณ์ท้ายน้ำ บริเวณประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่ต้องรับน้ำจากลุ่มเจ้าพระยา ตอนนี้ ชลประทาน เริ่มการพร่องน้ำลงทะเลแล้ว เพื่อรอมวลน้ำที่ระบายมาจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ในอัตราเฉลี่ย 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่จะไหลลงมาเติม คาดว่าหากไม่มีน้ำฝนตกลงมาเพิ่ม จุดนี้ไม่น่าเป็นห่วง จะมีเพียง ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ที่จะมีน้ำรอการระบาย เพราะเป็นตำบลสุดท้ายที่อยู่ติดอ่าวไทย

รัฐบาลกำชับระวังพายุจร
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ห่วงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วยงาน เตรียมรับมือมวลน้ำภาคเหนือที่จะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และเตรียมรับมือความเสี่ยงหากมีพายุจรพัดเข้าไทย