ระดมสมองแก้ กองทุนประกันสังคมล่มสลายใน 30 ปี

View icon 141
วันที่ 1 ก.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ระดมสมองแก้ กองทุนประกันสังคมล่มสลายใน 30 ปี ไทยเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานในระบบน้อยลง เล็งขยายเพดานเก็บเงินสมทบ ขยายอายุเกษียณไปถึง 65 ปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของกองทุนประกันสังคม ที่จะเกิดปัญหาในอนาคตข้างหน้า ว่า ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มีการคํานวณและตั้งสมมติฐานว่ากองทุนประกันสังคมในปี 2567 คาดว่าขนาดกองทุนฯ ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท และในอีก 10 ปีข้างหน้า  กองทุนจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท แต่จากการคํานวณ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบการทํางานจะลดน้อยลง มีการคํานวณทางคณิตศาสตร์ว่าไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคม ขนาด 4-5 ล้านล้านบาท จะเหลือเป็นศูนย์ นั่นคือถึงการที่จะล้มละลายของกองทุนของประกันสังคม

หลังจากนี้ในปี 2568 ดอกผลที่กองทุนประกันสังคม มีวงเงินเท่าไหร่ ไปลงทุน ต้องมีค่าเฉลี่ยของดอกผลไม่น้อยกว่า 5% แต่อาจจะมีการยืดชีวิตออกไปได้บ้างสัก 3 ถึง 5 ปี ฉะนั้นจึงต้องหาวิธีการอีกหลายวิธี เพื่อมาสนับสนุน เช่น

1.การที่จะต้องขยายเพดานในการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจากปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาท อาจจะต้องขยายไปเป็น 17,500 บาท ซึ่งแน่นอน ฝ่ายลูกจ้างจ่าย 5% นายจ้างจ่าย 5% ภาครัฐจ่าย 2.75% เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนให้เป็น 5% ทั้ง 3 ขาเท่ากัน
2.พิจารณาการขยายอายุของผู้ทํางาน จาก 55 ปีเป็น 60 ปี ในเบื้องต้น หลังจากนั้นเราอาจจะมีความจําเป็นต้องขยายไปทีละ 1 ปี จนครบ 65 ปี
3.เราต้องหาวิธีนําแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ระบบของประกันสังคมให้ได้ ไม่ใช่ว่าอายุ 55 ปีออกไป หรือ 60 ปีเกษียณไปแล้ว แต่ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีมันสมองที่ดี เราควรจะนำแรงงานเหล่านี้กลับมาทำงาน  แต่อาจจะทำงานไม่เต็มเวลา จาก 8 ชั่วโมงลดเหลือ 4 ชั่วโมง หรือทํางานพาร์ตไทม์ เป็นบางช่วง

รมว.แรงงาน กล่าวว่า กองทุนประกันสังคม ในปี  2566 เราได้เงินตอบแทนหรือดอกผลจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 2.5 - 2.6% เท่านั้น เป้าหมายในปี 2568 ต้องไม่น้อยกว่า 5% และใน ปี 2569-2570 เป้าหมายต้องมี 7-8 % บริษัทที่จะไปลงทุน ความน่าเชื่อถือต้องไม่น้อยกว่า BBB+ นั่นเป็นหลักประกันอันหนึ่งที่ว่าบริษัทที่จะไปลงทุน ต้องมีความแข็งแรงมาก ๆ

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนตามกฎหมายคือกองทุนประกันสังคม ลงทุน 60% ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง อีก 40% สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงได้ แต่ในปีที่ผ่านๆ มา ด้วยความที่ทางผู้บริหารกองทุนประกันสังคมพยายามที่จะทํางานแบบฟิตเซฟตี้ หรือว่าอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยคือ 75% อยู่ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง และสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยงแค่ 25% แต่ถ้าเราทําในลักษณะนั้น แน่นอนจะยังคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างในปี 2568 เราคงจะต้องกลับไปใช้ตาม พ.ร.บ. คือลงทุนในสินทรัพย์ไม่เสี่ยงคือ 60% สินทรัพย์เสี่ยงคือ 40% ตาม พรบ.กองทุนประกันสังคม

“แต่ในอนาคต คงจะต้องหารือกับบอร์ดประกันสังคม ว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าในโลกปัจจุบันมีการวิเคราะห์ที่ดีเราสามารถเอาสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงเหลือ 50% และเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยง 50% นั่นคือเป็นการระดมเพื่อนําดอกผล กลับเข้ามาสู่ประกันสังคม” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันที่ 24 - 25 ต.ค.67 จะมีการระดมสมองอีกครั้ง จะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะผู้บริหารกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ (เทมาเส็ก) จะมาบรรยายให้ฟังว่าการที่จะทําให้กองทุนประกันสังคม มั่นคงถาวร

“วันนี้กองทุนประกันสังคม กําลังเจริญเติบโต แต่เรารู้ว่าอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้าอนาคตเป็นอย่างไร วันนี้เราต้องแก้เพื่ออนาคตข้างหน้า ไม่รอให้เงื่อนกระชับ จนปลดไม่ได้แล้ว หรือปลดไม่ทันแล้ว” นายพิพัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง