“มาดามเดียร์” ไม่เห็นด้วย “ปชป.” ร่วมรัฐบาล ถามกลับ “ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือก้าวข้ามหัวประชาชน”

View icon 79
วันที่ 29 ส.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“มาดามเดียร์” ลั่นกู้วิกฤต “ปชป.” ในวันที่แพ้ ต้องเป็นฝ่ายค้านไม่ใช่รัฐบาล

วันนี้ (29ส.ค.67) ก่อนการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อขอมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ก แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล หลัง ปชป. ได้รับเทียบเชิญจากพรรคเพื่อไทย ใจความตอนหนึ่งมี ดังนี้

”ก้าวข้ามความขัดแย้ง หรือก้าวข้ามหัวประชาชน?  โดยการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างว่าคนรุ่นนี้ไม่รับมรดกความขัดแย้งของรุ่นก่อนหน้า ฟังดูเป็นการตัดตอนอย่างง่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้ว ภาพความขัดแย้งที่ผู้บริหารชุดนี้เหมารวม มันคือการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มกำลังมาทุกยุคทุกสมัย ไม่อ่อนข้อหรือล้มมวยเพื่อเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ต่างตอบแทน

เพราะผู้แทนประชาชน คือ ตัวแทนประชาชนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ผู้แทนประชาชนที่ดี จึงต้อง “กล้า…ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้า…ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมเมื่อขัดแย้งกับประโยชน์ส่วนรวม” ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ใช่การเข้ามาทำหน้าที่เพื่อสู้รบ หรือรักกับใครเพราะการแบ่งผลประโยชน์ส่วนตนนั้นลงตัว

แม้ในตลอดกว่าช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะการเลือกตั้ง การเมืองเผชิญความวุ่นวาย จนพรรคได้รับบทเรียนเหลือ ส.ส. จำนวน 25 คน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยสูญเสียเกียรติ และความภาคภูมิใจเพราะสมาชิกพรรคต่างตระหนักรู้ดีว่า การตัดสินใจของสมาชิกไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำประโยชน์เพียงเพื่อคนไม่กี่คน หรือใครคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้น การกอบกู้วิกฤตพรรคที่วันนี้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง คือ การทำหน้าที่เพื่อประชาชนในฐานะฝ่ายค้าน ตรวจสอบถ่วงดุลอย่างสุดกำลังความสามารถ ไม่ใช่การสบช่องหาโอกาส เพื่อเข้าสู้อำนาจโดยก้าวข้ามความรู้สึกประชาชนที่ยังคงให้ความไว้วางใจในพรรคประชาธิปัตย์

“การตัดสินใจของผู้บริหารพรรคชุดนี้ ไม่เพียงซ้ำเติม ทำลายวิกฤตศรัทธาของพรรคที่ชาวประชาธิปัตย์ในอดีตเพียรสร้างมาอย่างสิ้นเชิง หากแต่ คือ การทำลายวิกฤตศรัทธาของการเมืองไทย ที่สุดท้ายนักการเมืองไม่อาจเป็นความหวัง การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม ให้นักการเมืองเข้ามาร่วมกันแสวงหาประโยชน์ของตนเอง”