แนะผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม คดี ยาดองมรณะ

View icon 101
วันที่ 27 ส.ค. 2567
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยังอยู่ก็ดี หรือคนที่ตายไปแล้ว เพราะยาดองเถื่อนที่กินเข้าไปก็ดี หลายคนสงสัยว่า ในเมื่อเป็นของเถื่อนที่กินเข้าไปเอง เรียกร้องหาความรับผิดชอบได้เหรอ คำตอบคือ "ได้"

แนะผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม คดี ยาดองมรณะ
นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้คำตอบนี้กับทีมข่าว 7HD ว่า กรณีที่เราบริโภคสุราเถื่อน หรือยาดอง เข้าไปแล้วเกิดผลกระทบต่อร่างกาย

จริงอยู่แม้ว่าเราเลือกที่จะกินของแบบนี้เข้าไปเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่เรากินเข้าไป เราไม่รู้ว่าในนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง ด้วยความเข้าใจว่าเราบริโภคของที่มีขายทั่วไป ดังนั้นความรับผิดชอบก็ต้องไปตกอยู่กับผู้ผลิต หากตำรวจจับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว ก็แนะนำให้ผู้เสียหายเข้าไปเป็นโจทก์ร่วม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ

ส่วนทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แนะนำแบบนี้ ถ้าเป็นผู้เสียหาย หรือญาติของผู้เสียชีวิต ให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด จากนั้นก็นำเอาหลักฐานการแจ้งความคดีอาญา มายื่นขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ พิจารณาว่า เข้าหลักเกณฑ์ในการขอรับเงินเยียวยาได้ หรือไม่

แล้วเรื่องทางคดีตอนนี้ไปถึงไหน ที่ผ่านมาตำรวจได้จับกุม 2 พี่น้อง ที่ผลิตสุราขาว หรือเหล้าขาวเถื่อน ดำเนินคดีฐาน "ผลิตและจําหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต" และคุมตัวไปขออำนาจศาลฯ ฝากขังแล้ว ส่วน "เจ๊ปู" เมื่อวานเรียกตัวมาสอบปากคำ

และบ่าย 15.30 น. วันนี้ ตำรวจและแพทย์ ก็จะร่วมกันสอบปากคำอย่างละเอียดอีกที ก่อนพิจารณาข้อหาเดียวกัน และเพิ่มอีก 1 ข้อหา ฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หากได้รับผลการตรวจสารประกอบ "ยาดอง" อย่างเป็นทางการมาแล้ว

กรมสรรพสามิต เร่งปราบซุ้มยาดองเถื่อน
กรมสรรพสามิต เร่งกระจายกำลังตรวจซุ้มยาดองในเขตกรุงเทพฯ หลังประชาชนดื่มสุรามีสารพิษเจือปน กระทั่งมีผู้เสียชีวิตพร้อมเผยตั้งแต่เดือน ตุลาคมปีที่แล้ว จนถึง กรกฎาคมปีนี้ เจ้าหน้าที่จับกุมซุ้มยาดองเถื่อนได้ 284 คดี ยึดสุราของกลางได้กว่า 1,231 ลิตร ปรับไปเป็นเงินกว่า 3.14 ล้านบาท พร้อมย้ำเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการบริโภคและซื้อสุราที่ไม่มีแสตมป์สรรพสามิต เพราะอาจมีสารอื่นปะปน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับประชาชนท่านใดที่พบการกระทำผิดกฎหมาย สามารถโทรศัพท์แจ้ง โดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ ได้ที่ 1713 ตลอด 24 ชั่วโมง